บทสัมภาษณ์
วันที่ : 543 1,422 ครั้ง

แนะวิธี...อยู่อย่างไรให้อายุยืนเกิน 100

              การมีสุขภาพดี แข็งแรงอยู่เสมอในวัยสูงอายุ เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการและหวังให้ตัวเองเป็นเช่นนั้น แต่ก็อาจดูเป็นเรื่องยากหากจะทำ เนื่องจากสุขภาพที่ดีนั้น ต้องประกอบด้วยปัจจัย หลายๆ อย่าง ซึ่งคนแก่แต่หัวใจยังหนุ่ม “คุณหมอเฉก ธนะสิริ” วัย 82 ปี ผู้นี้ บอกว่า การที่คนเราจะมีสุขภาพดีและมีอายุยืนยาวนั้น ไม่ใช่เรื่องยาก

“คุณก็กิน-อยู่แบบช้าง ม้า วัว ควาย ยีราฟ แรด สิ”

ประโยคนี้ คุณหมอพูดแบบขำๆ  และเมื่อเห็นเราขำไปด้วย คุณหมอจึงรีบบอกว่า   

“นี่ผมไม่ได้พูดเล่นนะ ผมพูดจริงๆ คุณลองดูสิ สัตว์พวกนั้นมันกินอะไรกัน กินแต่ผักสด ผลไม้สด กินพวกธัญพืช มาก่อนเราตั้งนานแล้ว มันไม่ได้กินอะไรที่เต็มไปด้วยสารพิษเหมือนที่เรากินกันอยู่ทุกวันนี้หรอก พอกินเสร็จ มันก็ไม่ได้อยู่นิ่งๆ แต่มันเดินของมันเรื่อยๆ เปรียบเสมือนกับคนเราที่เมื่อกินอิ่มแล้วก็ต้องออกกำลังกาย แต่สัตว์พวกนั้นมันทำมาก่อนเราอีก”

ผมเกิด พ.ศ. 2468 ซึ่งอยู่ในช่วงปลายของรัชกาลที่ 6 เรียกว่ามีชีวิตอยู่นานถึงสี่แผ่นดินแล้วผมมีน้องชายอีก 2 คน แม่เล่าให้ผมฟังว่า ตอนที่ผมอายุประมาณ 2 ขวบ ผมไม่สบายมาก แม่เองก็ไม่รู้ว่าป่วยเป็นอะไรกันแน่ จึงพาไปหาหมอแผนปัจจุบัน รักษากันอยู่นาน ก็ไม่หาย จนมีน้องของปู่ของผมคนหนึ่ง ซึ่งท่านเป็นหมอแผนโบราณ ได้เจียดยาหม้อ (สมุนไพรสด) มาให้ พร้อมทั้งบอกว่า “หม้อเดียวหาย”
ด้วยความที่ไม่มีทางเลือก แม่จึงยอมให้ผมกินยาสมุนไพรหม้อนั้น แล้วก็ปรากฏว่า “หม้อเดียวหายจริงๆ”ครั้งนั้นคือ อาการเจ็บป่วยที่หนักที่สุดในชีวิตของผม

ผมเข้าเรียนระดับอนุบาลที่โรงเรียนใกล้บ้าน หลังจากนั้นผมมาเรียนต่อระดับประถมที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ ระดับมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และสอบเข้าเรียนแพทย์ที่ศิริราชตามลำดับ
ความจริงแล้ว ผมไม่ได้อยากเป็นหมอหรอกครับ แต่ทางครอบครัวของผมอยากให้เป็น เพราเห็นว่าอาชีพหมอนั้นเป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีชื่อสียง เขาไม่ได้คิดว่าเป็นหมอแล้วจะร่ำรวย เพราะสมัยที่ผมเรียนก็ยังไม่มีหมอคนไหนที่ร่ำรวยเลยสักคน แต่เขาอยากให้ช่วยดูแลรักษาพ่อแม่ตอนแก่ได้ ผมก็เลยตามใจแม่ อีกอย่างก็คือ การเรียนในสมัยก่อนมันไม่ได้มีคณะให้เลือกมากมายเหมือนอย่างสมัยนี้
ผมจบแพทย์เมื่ออายุ 24 แต่งงานตอนอายุ 28 ปี กับแพทย์หญิงวิลิศ ธนะสิริ (ปี 2546) และปีต่อมาเราก็มีลูกสาวคนแรก ซึ่งปีนั้นเองที่ผมถูกย้ายไปทำงานในโครงการพัฒนาศูนย์ตัวอย่างอนามัยชนบทที่ จ.นครราชสีมา และทำงานอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 10 ปี ตอนปลายปี 2498 ผมก็ได้ลูกสาวคนที่สอง และปี 2500 ก็ได้ลูกชายเป็นคนสุดท้อง จนกระทั่งปี 2503 ผมก็ย้ายเข้ามารับราชการที่กรุงเทพมหานครอีก 26 ปี มาเกษียณอายุราชการเมื่อปี 2529 ส่วนน้องชายคนรองของผมเขาเรียนวิศวะจุฬาฯ คนสุดท้องจบจากธรรมศาสตร์ แล้วไปต่อที่ออสเตรเลียครับ” ขณะนี้ คุณหมออายุ 82 ปี ท่านบอกกับเราว่า ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เคยป่วยเป็นไข้หวัดเพียง 2 ครั้งเท่านั้น ซึ่งครั้งสุดท้ายที่เป็น ก็ผ่านมานานกว่า 10 ปีแล้ว ส่วนโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ นั้น คุณหมอเอ่ยสั้นๆ ว่า
“ไม่เคยเป็น” ตัวผมไม่เคยป่วยเป็นโรคร้ายแรงอะไรเลยครับ และไม่มีโรคประจำตัวใดๆ ทั้งสิ้นด้วย

การที่ผมอายุยืนและแข็งแรงนั้น จะว่ามาจากกรรมพันธุ์ก็คงจะไม่ถูกนัก เพราะน้องชายทั้ง 2 คนของผม อ้วนมากซึ่งคนสุดท้องนั้นเสียชีวิตไปแล้ว เขาหนักถึง 150 กิโลกรัม สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง มีโรคประจำตัวเยอะแยะ เสียชีวิตตอนอายุแค่ 63 โดยที่หลับไปแล้วก็ไม่ตื่นเลยส่วนน้องคนรองของผม ตอนนี้อายุ 80 ปี หนัก 130 กิโลกรัม สุขภาพก็ไม่ดี เพราะน้ำหนักตัวมากเกินไปแต่พ่อกับแม่ผม ท่านอายุยืนนะ พ่อเสียชีวิตขณะที่อายุได้ 90 ปีเศษ ส่วนแม่เสียชีวิตตอนที่อายุ 99 ซึ่งจริงๆ แล้ว ท่านตั้งใจจะอยู่ให้ถึง 100 ปี

มีอยู่เรื่องหนึ่ง ซึ่งมหัศจรรย์หรือเปล่าผมก็ไม่ทราบ แต่ผมจำได้ว่า ตอนที่แม่ของผมอายุ 90 กว่าๆ นั้น ท่านเริ่มจะหลงๆ ลืมๆ แล้ว จำไม่ได้ว่าตัวเองอายุเท่าไหร่ บังเอิญวันหนึ่งมีคนถามว่า แม่อายุเท่าไหร่แล้ว ท่านก็ชูนิ้วขึ้นมา 7 นิ้ว ซึ่งท่านหมายความว่า จะอยู่อีก 7 ปี (ปีนั้นแม่ยุ 93) พอปีต่อมาท่านก็ชูขึ้นมา 6 นิ้ว แปลว่า ยังเหลืออีก 6 ปี แต่เสียดายที่ท่านกะพลาดไปเกือบ 2 ปี เพราะเสียชีวิตตอนที่อายุ 98 ปี 8 วัน

จากตัวอย่างเรื่องของแม่ ทำให้ผมเชื่อว่า ร่างกายของเราเป็นฮาร์ดแวร์ จิตของเราเป็นซอฟแวร์ ทั้งสองอย่างนี้ มันบังคับกันได้ และเราทุกคนก็สามารถที่จะกำหนดเวลาชีวิตให้ตัวเองได้เหมือนกันทุกคน
ประมาณ 15 ปีที่แล้ว ผมเขียนหนังสือชื่อ “ธรรมชาติชีวิตของเฉก ธนะสิริ เป้าหมาย 120 ปี” ที่ผมตั้งเป้าไว้สูงขนาดนั้นก็เพราะว่า...พ่อยังอยู่ได้ถึง 90 แม่ปาไปเกือบร้อย ลูกก็ต้องอยู่ได้นานกว่านั้นสิ ตอนนี้ผมเหลือเวลาอีก 38ปี และเวลาที่ผมไปบรรยายที่ไหน ผมก็จะบอกทุกคนว่า “พวกคุณอย่าเพิ่งตายนะ รอดูก่อนว่าผมจะอยู่ได้ถึง 120 ปี หรือเปล่า” (หัวเราะ) สมัยที่ยังเป็นหนุ่ม ผมก็ใช้ชีวิตแบบคนทั่วๆ ไปนี่แหละ ไม่ค่อยสนใจที่จะดูแลตัวเองสักเท่าไหร่ เที่ยวเตร่ ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ จนกระทั่งเมื่ออายุ 38 ปี ถึงได้หันมาสนใจออกกำลังกาย โดยเริ่มต้นจากสมัครเป็นสมาชิกของสปร์ตคลับแห่งหนึ่ง แล้วไปว่ายน้ำ ซึ่งความจริงอยากจะจ๊อกกิ้งด้วย แต่ตอนนั้นรองเท้าวิ่งยังไม่มีขายเลย พอมีรองเท้าวิ่งมาขาย ผมถึงได้ไปวิ่งจ๊อกกิ้ง ต่อมาการออกกำลังกายก็พัฒนามาเรื่อยๆ มีห้องยิมฯ ห้องฟิตเนส ผมก็เล่นมันทุกอย่าง และก็ทำอย่างสม่ำเสมอด้วยนะพอร่างกายเริ่มอยู่ตัวขึ้น แข็งแรงขึ้น จากที่เมื่อก่อนนั้นเคยเป็นหวัดบ่อยๆ ท้องเสียบ่อย ปวดหัวบ่อย หายหมดเลยเชื่อไหมว่า 40 ปีที่ผ่านมานี้ ผมเป็นไข้หวัดแค่ 2 ครั้งเท่านั้น และก็ไม่ได้กินยา หรือไม่ได้ไปหาหมอด้วย เพราะว่าเมื่อร่างกายเรามีภูมิต้านทานสูง เชื้อโรคมันก็มาทำอะไรเราไม่ได้เลยสิ่งที่ผมมักจะพูดอยู่เสมอคือ กรณีที่ไม่ได้เจ็บป่วยจากเชื้อโรค พวกแบคทีเรียไวรัส อาทิ โรคความดันโลหิต โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ภูมิแพ้ โรคอะไรพวกนี้ ต้องมาแก้ที่ต้นเหตุ ความสำคัญของการรักษามันไม่ได้อยู่ที่การใช้ยา อย่าคิดว่า “ยา” เท่านั้นที่จะทำให้คุณหายป่วย แต่มันขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเองให้ดี ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ต่างหาก ใจต้องสู้ ทำจิตใจให้สงบ ย่าเครียด อย่าฟุ้งซ่าน กินอาหารให้ถูกต้อง พักผ่อนเยอะๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับรองหายหายแน่นอน

ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาในการรักษา ก็ควรจะเลือกให้ถูกต้อง เพราะโรคในกลุ่มนี้ มันเกิดมาจากการเสื่อมสภาพของเซลล์ในร่างกายที่เจ้าตัวปล่อยปละละเลย ไม่ได้ดูแลมาเป็นเวลานาน จากการกินอาหารผิดๆ จากความเครียด ความทุกข์ พักผ่อนไม่เพียงพอ แถมยังเอาแอลกอฮอล์และบุหรี่เข้าไปในร่างกายอีก ซึ่งปัจจุบันคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคในกลุ่มนี้เป็นอันดับต้นๆ ไม่นับรวมอุบัติเหตุส่วนอาการป่วยทีเกิดจากเชื้อโรคก็ต้องไปหาหมอ กินยา ฉีดยา รักษาไปตามอาการ แต่จงจำไว้ว่า ยาทุกชนิดล้วนทำจากสารเคมี และมีผลกระทบต่อร่างกายทั้งสิ้น

การใช้ยานั้น มันช่วยได้เพียงแค่เพื่อไปใช้ตกแต่งตัวเลขของสารในเลือดให้สวยงามขึ้นเล็กน้อยเท่านั้นเอง ซ้ำร้าย ยาส่วนใหญ่ยังต้องถูกกรองที่ไตหรือตับ ซึ่งเปรียบเสมือหม้อกรองของรถยนต์ ถ้าได้รับสารเคมีมากๆ หม้อกรองก็พังได้เหมือนกัน อวัยวะสองอย่างนี้ทำงานหนัก ไตและตับจึงวายมากขึ้น สมองฝ่อกันมากขึ้น เพราะสาเหตุนี้เป็นสำคัญ

ผมไม่ได้บอกว่า การกินยาไม่ดีนะ แต่เราควรจะเปลี่ยนมุมมองมาดู มาแก้ที่ต้นเหตุกันบ้าง ลองเปลี่ยนวิถีในการใช้ชีวิตกันบ้าง หันมาดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี เพราะตอนนี้คุณรู้ไหมว่า ประเทศไทยเรานั้นได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ใช้ยาเปลืองที่สุดในโลก ปีหนึ่งๆ เราต้องสั่งยาจากต่างประเทศมาไม่ต่ำว่าปีละ 8 หมื่นล้านบาท เอะอะอะไรก็กินยา ๆ กัน อย่างเดียวเลย ...ผิดกับแถวสหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย ที่พวกเขาหันไปสนใจการแพทย์องค์รวม (การรักษาทั้งทางกาย จิตวิญญาณ พลังงาน ซึ่งเน้นในด้านการป้องกันมากกว่าแก้ไข) แพทย์ทางเลือก (การรักษาแบบแผนโบราณ เช่น การฝังเข็ม การโยคะ ทำสมาธิ เป็นต้น) กันมากขึ้น ส่วนด้านการใช้ยาในบ้านเขาลดลงมาก แต่ก็มาได้ตลาดยาแห่งเมืองไทยเรานี่แหละ มันไม่ใช้เรื่องที่น่าภูมิใจเลยนะ เพราะนี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตของคนไทยเราว่ามันตกต่ำแค่ไหน...

พวกยาวิตามินทั้งหลาย ไม่ว่ายาบำรุงสมอง อาหารเสริม ผมก็เคยกินเหมือนกัน แต่กินไปก็ไม่เห็นจะมีอะไรแตกต่างเลย แล้วจะไปกินมันทำไม (หัวเราะ) แพงก็แพง คนที่เขากินแล้วดีขึ้นก็มีนะ แต่ว่าบังเอิญไม่ใช่ผม ก็เท่านั้น

สติปัญญาของผมก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ เรื่องที่ช้าหน่อยก็คงเป็นเรื่องของการเดินเหิน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ตัวเรานี่มันอายุ 82 แล้วนะ จะให้ทำอะไรแคล่วคล่องว่องไวเท่าคนหนุ่มสาวก็คงเป็นไปได้ยาก
ส่วนเรื่องความสัมพันธ์กับภรรยานั้น ผมได้รูดม่านปิดไปนานแล้ว ตอนนี้เราอยู่กันเหมือนเพื่อนที่เข้าใจมากกว่า ซึ่งสุขภาพของภรรยาก็แข็งแรงเหมือนกันนะ ทั้งๆ ที่เขาอายุมากกว่าผม 1 ปี เพราะเราจะมีวิธีการกินและอยู่คล้ายๆ กัน เราชอบออกกำลังกายเหมือนกัน

กิจวัตรประจำวันที่ผมจะทำอย่างสม่ำเสมอก็คือ เริ่มจากการกินอาหารเช้าแค่พออิ่ม แล้วก็ออกไปดูต้นไม้ พรวนดิน ถอนหญ้า จนกระทั่ง 11.00 น. ก็จะออกไปว่ายน้ำประมาณ 30 นาที อาหารกลางวันที่กิน ผมจะเน้นโปรตีนจากสัตว์น้ำ หลักการกินเนื้อสัตว์ของผมคือ กินเนื้อสัตว์ที่ไม่มีขา กับสัตว์ที่มีเกิน 4 ขา และผักสด ที่สำคัญต้องมีผลไม้อีก 1-2 อย่าง บ่ายๆ ผมจะงีบสักพัก แล้วก็มาดูสวนต่อ รดน้ำต้นไม้ นอกจากนั้น เวลาผมจะไปไหนมาไหน ก็จะขี่จักรยานหรือเดินไป ถือว่าได้ออกกำลังกายไปในตัวการออกกำลังกายที่ดีที่สุดสำหรับผู้สูงอายุ คือ ทำแค่สม่ำเสมอ ให้พอทนได้ ภายในเวลา 30 นาที ติดต่อกันสัปดาห์ละ 4-6 ครั้ง เท่านั้นก็เพียงพอแล้วส่วนมื้อเย็นก็กินตาปกติครับ กินอาหารที่มีประโยชน์แค่พออิ่มเท่านั้น

อาหารที่ผมขอแนะนำ เพราะเห็นว่ามีประโยชน์สำหรับร่างกาย คือ ผักสด ผลไม้สด เช่น มันเทศ กล้วนน้ำว้า หรือ กล้วยหักมุก เมื่อพูดถึงกล้วยแล้ว ก็ต้องพูดถึงข้าวกล้องด้วย เพราะอาหารธรรมชาติทั้งสองอย่างนี้ มีสารอาหารพร้อมทั้งแป้ง โปรตีน วิตามิน ไขมัน แร่ธาตุต่างๆ ทั้งยังมีกากใยมากอีกด้วย มีประโยชน์มาก

ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ผมออกกำลังกายโดยการว่ายน้ำ คิดเป็นระยะทางสะสมกว่า 7,900 กิโลเมตรแล้ว ซึ่งสถิตินี้ถูกบันทึกไว้อย่างชัดเจนที่สระว่ายน้ำของราชกรีฑาสโมสรครับ ผมบริจาคเลือดติดต่อกัน 28 ปี รวม 112 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่ออายุ 70 ปี 8 เดือน (ซึ่งปกติเขารับบริจาคในคนอายุไม่เกิน 60 ปี) ผมจึงถือโอกาสตรวจเลือดไปด้วย ซึ่งผลเลือดก็เป็นปกติทุกรายการเคล็ดลับความสุขของผม คือ การมีครอบครัวอบอุ่น มีกินมีใช้อย่างพอเพียง และต้องดูแลการกินอยู่ของเราให้ดี ต้องกินผัก ผลไม้เยอะๆ ลดเนื้อสัตว์และอาหารพวกไขมัน การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และทำจิตใจให้สงบ สิ่งเหล่านี้คือกุญแจที่ทำให้สุขภาพแข็งแรง และนำมาซึ่งความสุขในวัยสูงอายุ

นอกจากนั้น ผมยังมีหลัก 9 อ. ที่เคยเขียนไว้ในหนังสือ “ทำอย่างไรจะชะลอความชราและปราศจากโรค” ไว้ว่า
1.  อนาคต ซึ่งเราต้องตั้งใจให้แน่วแน่ว่า จะต้องมีอายุยืนยาวอย่างแข็งแรง
2. อนามัย เราต้องดูแลสุขภาพอนามัยของตัวเองด้วยการตรวจโรค ตรวจเลือดปีละ 1-2 ครั้งเป็นประจำทุกปี
3. อารมณ์ ซึ่งสำคัญมาก ควรทำอารมณ์ให้เป็นปกติ ให้มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์น้อยที่สุด
4. ออกกำลังกาย จะต้องพอเพียงอย่างน้อยวันละ 30 นาที และทำ 4-6 วัน ต่อสัปดาห์ และเลือกชนิดของการออกกำลังกายให้เหมาะกับวัยและน้ำหนักตัว
5. อาหาร อาหารที่เหมาะสมกับคนทุกเพศทุกวัย ก็คือ พืชผัก ผลไม้ ถั่วและเมล็ดพืช เช่น เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง และที่ต้องระวัง อย่ากินพวกที่มีไขมัน น้ำตาล พวกเนื้อสัตว์สี่เท้ามากนัก ต้องเคี้ยวให้ละเอียด ไม่ดื่มน้ำระหว่างกินอาหาร งดดื่มน้ำอัดลม แอลกอฮอล์ ชา น้ำหวานได้ยิ่งดี
6. อากาศ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายคือ ออกซิเจนและโอโซน คนในเมืองก็ควรหาโอกาสไปพักฟ่อนตามสถานที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ เช่น ชายทะเล ป่าเขา เป็นต้น
7. อาทิตย์ หมายถึง แสงอาทิตย์ ร่างกายเราควรจะได้รับแสงอาทิตย์ตั้งแต่ตะวันขึ้นไปจนถึงประมาณ 10.00 น. และหลัง 16.00 น. จนตะวันตกดิน เพราะแสงอาทิตย์ในเวลาเหล่านี้มีรังสีอยู่หลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
8. อดิเรก ควรหางานอดิเรกทำ เพราะคนที่อยู่ในวัยสูงอายุมักจะมีเวลาว่างเหลือเฟือ เมื่อใดที่ว่างก็จะรู้สึกเหงา และมักคิดว่าตัวเองหมดคุณค่า ควรระวังอย่าให้ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นเป็นอันขาด
9. อบอุ่น พยายามสร้างความอบอุ่นขึ้นในครอบครัวของตนเองก่อน และเผื่อแผ่ไปยังครอบครัวของลูก และหลาน  เหลน แล้วสุขภาพจิตของเราจะสดชื่น

9 อ. ทั้งหมดนี้ ผมกำหนดขึ้นมา ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติง่ายๆ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ การย้ำคิดย้ำทำอยู่เสมอว่า ความตั้งใจเราคืออะไร ซึ่งความปรารถนาของผมก็คือ ตั้งใจจะมีชีวิตยืนยาวอย่างสดชื่น ปราศจากโรคภัยไปจนอายุ 120 ปี

ขณะนี้ ผมได้บริจาคดวงตาให้กับสภากาชาดไทย และบริจาคร่างกายให้ ร.พ.ศิริราช เรียบร้อยแล้ว ถ้าหากวันไหนผมเสียชีวิต ก็ลองเอาไปผ่าดูซิว่า ส่วนไหนของร่างกายที่มันชำรุดไปบ้าง สภาพร่างกายผมมันเป็นยังไง ถ้ามันยังอยู่ในเกณฑ์ดี ก็อยากจะให้นำแนวคิดการใช้ชีวิตของผมไปปฏิบัติกันดูบ้าง จะได้ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมากล้ำกราย และจะได้มีอายุยืนยาวและที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้ คือที่มาของการตั้งเป้าชีวิตของผมที่บอกว่า ผมจะอยู่ให้ได้จนถึงอายุ 120 ปี แล้วค่อยตาย ขณะนี้ คุณหมอได้ออกหนังสือชุด “กินอยู่อย่างไรให้ปลอดโรค” และ “คู่สร้างคู่สม” ได้รับความอนุเคราะห์จากคุณหมอและบริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด ผู้จัดพิมพ์ แจกหนังสือชุดนี้เป็นของรางวัลจำนวน 25 ชุด (1 ชุด มี 4 เล่ม) แก่แฟน “คส.คส.” หากท่านใดสนใจ กรุณาเขียนไปรษณีย์ส่งมาที่สำนักงาน “คส.คส.” เพียง 25 ท่านแรกเท่านั้นที่มีสิทธิ์อภิรดี

คุณหมอเฉกท่านอยู่คอนโดฯเดียวกับผมที่หัวหิน ท่านกับภรรยาชอบลงไปว่ายน้ำในทะเล ไม่ว่าคลื่นจะใหญ่ ลมจะแรงยังไง ท่านก็ลงไปดำผุดดำว่ายเหมือนทะเลสงบ ผมซึ่งหนุ่มกว่าท่าน กลับต้องคอยเฝ้ายืนดูท่านเพราะเป็นห่วง กลัวว่าท่านจะจมหายไป


ดำรง พุฒตาล คู่สร้างคู่สม 
ขอขอบคุณบทสัมภาษณ์คุณหมอเฉก ธนะสิริ จากนิตยสาร คู่สร้างคู่สม


สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170