ทุกวันนี้ การใช้โซเชียลมีเดียหรือการติดต่อสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต แพร่หลายอย่างมากในหมู่คนไทยทุกเพศทุกวัย ซึ่งแน่นอนว่ารวมทั้งในหมู่ผู้สูงอายุด้วย
ผู้สูงอายุรุ่นผมจำนวนมากใช้ชีวิตประจำวันเป็นเวลานานอยู่กับโซเชียลมีเดีย ตัวผมเองใช้เวลานับชั่วโมงในแต่ละวันอ่านข้อความและดูคลิปต่าง ๆ ในไลน์และเฟซบุ๊กที่ส่งเข้าโทรศัพท์มือถือ ผมอ่านข่าวและเรื่องราวต่าง ๆ ที่เพื่อน ๆ โพสต์บนเฟซบุ๊ก ผมเล่นไลน์ติดต่อกับผู้คน ผมมีไลน์กลุ่มมากกว่าสิบกลุ่ม เช่น กลุ่มญาติพี่น้อง กลุ่มเพื่อนโรงเรียนมัธยม กลุ่มเพื่อนร่วมรุ่นมหาวิทยาลัย กลุ่มคนในที่ทำงานเดียวกัน กลุ่มคณะทำงานหรือคณะกรรมการชุดเดียวกัน
การใช้อินเทอร์เน็ตมีผลต่อชีวิตของผู้สูงอายุอย่างผมอย่างมาก เราได้ทราบข่าวสารความรู้ต่าง ๆ ผ่านช่องทางนี้ ไม่รู้อะไรก็ถาม “อากู๋” หรือกูเกิ้ล ผมเคยเขียนกลอนไว้บทหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้วว่า “อยากรู้เรื่องอะไรเป็นได้รู้ อยากดูเรื่องใดเป็นได้เห็น บอกเรื่องราวสารพัดได้ชัดเจน อากู๋เป็นคลังปัญญามหาชน”
ภาพ : www.freepik.com/
เพื่อนผมคนหนึ่ง เธอเป็นผู้สูงอายุวัยกลาง ไม่ทำงานแล้ว ตั้งแต่ปีกลาย เธอเลือกที่จะใช้เวลาส่วนหนึ่งไปกับการปลูกผักสวนครัว มาถึงวันนี้ เธอปลูกพืชผักมากกว่า 50 ชนิดไว้ในพื้นที่ริมขอบรั้วบ้าน เธอเข้ากลุ่มเฟซบุ๊กเฉพาะคนที่สนใจทำสวนครัวในพื้นที่จำ.กัดด้วยกัน สมาชิกในกลุ่มแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ทั้งในเรื่องการปลูกผักชนิดต่าง ๆ การบำรุงดิน การทำปุ๋ยธรรมชาติ ฯลฯ สมาชิกกลุ่มบางคนใจดี นอกจากจะถ่ายทอดความรู้ให้เพื่อน ๆ แล้วยังส่งเมล็ดพันธุ์ผักมาให้กันทางไปรษณีย์โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ อีกด้วย
“หมู่บ้านคนแก่” ของเพื่อน
เมื่อ 2-3 วันก่อน เพื่อนในไลน์กลุ่มนักเรียนรุ่นเดียวกันคนหนึ่งส่งข้อความมาบอกกล่าวเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังดังต่อไปนี้
“มีเรื่องแปลกแต่จริงจะบอกเพื่อน ๆ หมู่บ้าน ป.ปลา (ชื่อสมมุติ) ที่ผม (เปลี่ยนสรรพนามให้สุภาพ) อยู่มา 30 กว่าปี บัดนี้ได้กลายเป็นหมู่บ้านคนแก่ไปแล้ว ผมมาซื้อบ้านนี้เมื่อปี 2532 เผลอแพล็บเดียว อยู่มา 31 ปีแล้ว รอบบ้านผม ทั้งซ้าย-ขวา-หน้า-หลัง และที่ติดถัดไปอีก ตายเรียบ ผมเลยเป็นไข่แดงอยู่ตรงกลาง ไม่รู้จะซี้ม่องเซ็กตามเขาไปเมื่อไหร่ ที่จริง เราก็รู้ตัวเองมานานแล้วว่าจะอยู่ดูโลกไปได้อีกสักกี่ปี อีกไม่นานก็ต้องตายไปเหมือนกัน ตายแล้วไปเกิดใหม่ ใช้เวรใช้กรรมกันต่อไป”
อ่านแล้ว ผมก็เข้าใจความรู้สึกของเพื่อน เห็นเพื่อนบ้านรอบๆ ตัวเองตายเรียบอย่างนี้ ใจเพื่อนก็คงหวั่นไหวไปบ้างเป็นธรรมดา
ผมได้ไลน์ไปขอคำอธิบายเกี่ยวกับหมู่บ้านคนแก่ที่เพื่อนเอ่ยถึง เพื่อนยืนยันว่าหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ทุกวันนี้เรียกได้อย่างเต็มปากว่าเป็นหมู่บ้านคนแก่จริง ๆ หมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านจัดสรรเก่า เปิดโครงการขายบ้านมาตั้งแต่ปี 2515 คือเมื่อเกือบ 50 ปีมาแล้ว คนที่มาซื้อบ้านรุ่นแรก ๆ ตอนนั้นก็มีอายุราว 40 ปีขึ้นไป มาถึงตอนนี้ คนที่มาอยู่รุ่นแรก ๆ ก็กลายเป็นคนแก่กันหมดแล้ว น่าจะมีอายุ 70-80 ปีขึ้นไป ลูก ๆ ของคนรุ่นนี้ก็จะมีอายุราว 40-50 ปี คนรุ่นหลัง ๆ จำนวนมากย้ายออกจากหมู่บ้านนี้ไปหาที่อยู่ใหม่ หมู่บ้านที่เพื่อนอยู่จึงมีแต่คนแก่อาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่
เพื่อนยังเล่าเรื่องน่าสลดใจของเพื่อนบ้านให้พวกเราฟังหลายราย
บ้านหลังหนึ่ง สามีตาย ต่อมาบ้านถูกธนาคารยึด ภรรยาหายสาบสูญไม่รู้ไปอยู่ที่ไหน บ้านเลยกลายเป็นบ้านร้าง
บ้านหลังหนึ่งที่อยู่ติดกันกับบ้านเพื่อน เคยมีสามีภรรยาอยู่กันสองคน ไม่มีลูก ทั้งสองมีอาชีพการงานที่ดี เป็นเพื่อนบ้านที่สุภาพมาก ต่อมา ภรรยาเป็นมะเร็ง แต่สามารถมีชีวิตอยู่มาได้นานถึง 10 ปี แต่ในที่สุดก็หนีความตายไม่พ้น พอภรรยาตาย สามีก็ยิงตัวเองตายตาม...ทิ้งบ้านร้างอีกหลังหนึ่งให้ตำตาคาใจอยู่ข้าง ๆ บ้านเพื่อน
หมู่บ้านคนแก่อื่น ๆ
ที่จริงบ้านของคนไทยโดยทั่วไปก็มีแนวโน้มที่จะมีแต่คนแก่อาศัยอยู่ ทุกวันนี้ สังคมไทยกำลังสูงวัยขึ้นอย่างรวดเร็ว สัดส่วนของประชากรวัยเด็กและวัยทำงานลดต่ำลง ในขณะที่สัดส่วนของประชากรสูงอายุเพิ่มสูงขึ้น
ครัวเรือนไทยมีขนาดเล็กลงอย่างมาก เมื่อ 50 ปีก่อน ครัวเรือนของคนไทยมีขนาดเฉลี่ยประมาณ 5-6 คน แต่เดี๋ยวนี้ ครัวเรือนไทยมีขนาดเฉลี่ยเพียง 3 คนเท่านั้น
สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ทำการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนและพบว่า ในปี 2560 ร้อยละ 41 ของครัวเรือนทั้งหมด 22 ล้านครัวเรือนมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ ร้อยละ 12 ของครัวเรือนทั้งหมดมีเฉพาะผู้สูงอายุอาศัยอยู่ และประมาณร้อยละ 6 เป็นครัวเรือนที่ผู้สูงอายุอยู่ลำพังคนเดียว
ผมเคยเล่าให้น้อง ๆ ในที่ทำงานฟังว่า เมื่อ 40 ปีก่อน ผมลงไปเก็บข้อมูลภาคสนามโดยการสัมภาษณ์ตัวอย่างตามหมู่บ้านต่าง ๆ จำได้ว่า ในแต่ละหมู่บ้าน เราจะเห็นเด็ก ๆ วิ่งเล่นอยู่ทั่วไป บ่อยครั้งที่ได้ยินเสียงทารกร้องไห้จากบ้านนั้นบ้างบ้านนี้บ้าง ต่างกับเดี๋ยวนี้ เมื่อเข้าไปตามหมู่บ้าน จะไม่ค่อยเห็นเด็ก ๆ กลับเห็นแต่ผู้สูงอายุอยู่ทั่วไป
เมื่อเดือนที่แล้ว ผมมีโอกาสได้ไปกราบคารวะผู้ใหญ่ที่นับถือท่านหนึ่งที่บ้านของท่าน ท่านมีอายุ 89 ปีแล้วแต่ยังแข็งแรง ทั้งสภาพร่างกาย สมอง และจิตใจ ในบ้านของท่านอาศัยอยู่ด้วยกันสามคน คือตัวท่าน ภรรยาของท่านที่ป่วยนอนติดเตียง ต้องให้อาหารและขับถ่ายทางสายยาง นอนหลับตา ไม่พูดแล้ว แต่รับรู้ได้โดยผ่านการสัมผัส อีกคนที่อยู่ด้วยกันในบ้านเป็นผู้หญิงอายุไม่เกิน 30 ปี ทำหน้าที่ดูแลภรรยาของท่าน เธอมาจากศูนย์ดูแลผู้สูงอายุเอกชนโดยได้รับค่าจ้าง 2 หมื่นกว่าบาท ไม่รวมค่าอาหารในแต่ละวัน ผู้ใหญ่ที่ผมนับถือท่านนี้มีลูกสาว 3 คน ทุกคนแต่งงานมีครอบครัวแล้ว และแยกไปอาศัยอยู่ที่อื่น ลูก ๆ จะผลัดเปลี่ยนกันมาเยี่ยมพ่อแม่บ้างในวันหยุด
ท่านเล่าว่าท่านใช้เวลาส่วนมากในแต่ละวันนั่งอยู่ข้างเตียงใกล้ ๆ ภรรยาของท่าน ช่วยบีบมือ นวดเท้าให้ อ่านหนังสือให้ฟัง สวดมนต์ให้ฟัง ท่านดูแลภรรยาของท่านด้วยความรัก ท่านบอกว่า “สงสารเขา เราอยู่ด้วยกันมา 60 กว่าปีแล้ว”
ท่านยังเล่าอีกว่า เพื่อนร่วมรุ่นที่เรียน (มหาวิทยาลัย) มาด้วยกันประมาณ 50 คน เดี๋ยวนี้ก็เหลือที่ยังมีชีวิตอยู่เพียง 12 คนและคนที่ยังเหลืออยู่ก็มีสภาพที่พิการ บ้างสมองเสื่อมจำอะไรไม่ได้ บ้างมีสภาพเป็นผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง กันหมดแล้ว
ย้อนกลับมาดูเรื่องเพื่อนของผมที่เขียนมาเล่าว่าเพื่อนบ้านโดยรอบตายเรียบ และหมู่บ้านที่อยู่กลายเป็น “หมู่บ้านคนแก่” ไปแล้ว ผมเชื่อว่าเพื่อนคงรู้สึกเหงา ๆ อยู่เหมือนกัน ข้อความหลังสุดที่ผมได้รับจากเพื่อนคนนี้แสดงว่าเพื่อนได้ปลงตกแล้ว
“แม่สอนผม (เปลี่ยนสรรพนามให้สุภาพ) ไว้ว่า คนเราเกิดมามีแต่รูปและนาม แถมไม่เที่ยง ตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้สักอย่าง เอาติดตัวไปได้ก็แต่กรรม สลัดกรรมได้คือสิ้นอยากทั้งปวง .....”
ป.ล. เพื่อนผมคนนี้อายุ 75 ปี ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเพื่อนกำลังศึกษาธรรมะอย่างเอาจริงเอาจังอยู่ในขณะนี้
บทความโดย ปราโมทย์ ประสาทกุล
จดหมายข่าวประชากรและการพัฒนา ปีที่ 40 ฉบับที่ 4 เดือนเมษายน - พฤษภาคม 2563