5 กรกฎาคม 2563 (วันอาสาฬหบูชา)
เมื่อล่วงมาถึงวันนี้ ย่อมเท่ากับว่าผมรอดตายจากการติดเชื้อ “โควิด-19” แล้ว ตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงมิถุนายน คนไทยได้ร่วมมือร่วมใจกันต่อสู้กับโควิด-19 อย่างเข้มแข็ง ล็อคดาวน์ตัวเองอยู่ในบ้าน ทำงานจากบ้าน ประชุมออนไลน์ ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม และปรับพฤติกรรมการกินการอยู่อีกหลายอย่าง เพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ และเพื่อไม่ให้ตัวเองเป็นผู้แพร่เชื้อไปยังคนอื่น ๆ
ผมต้องขอแสดงความชื่นชมต่อรัฐบาลที่จัดการกับเชื้อโควิด-19 เสียจน “อยู่หมัด” และชื่นชมคนไทยที่รักษา “การ์ดไม่ให้ตก” ตลอดระยะเวลา 3-4 เดือนที่ผ่านมา พวกเรากำลังจะประกาศชัยชนะเหนือ “โควิด-19 จอมอำมหิต” ได้แล้ว ภาพความโหดร้ายของโควิด-19 ยังติดตา
การแพร่ระบาดครั้งนี้น่ากลัวจริง ๆ เชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถติดต่อกันโดยการสัมผัส การป่วยด้วยไวรัสสายพันธุ์นี้เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจซึ่งรุนแรงถึงขั้นสามารถเข้าไปทำลายปอด ในหลายประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและป่วยด้วยโควิด-19 พร้อมกันคราวละมาก ๆ บุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีอยู่จึงมักไม่เพียงพอที่จะดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีจำนวนมากและเพิ่มขึ้นรวดเร็วเหมือนน้ำที่ล้นทะลักจากเขื่อนที่ทำนบแตก
ผมมีเพื่อนที่ลงหลักปักฐานอย่างถาวรในรัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา ในช่วงการระบาดของโควิด-19 นี้ ผมได้คุยกับเขาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์โควิด-19 เป็นประจำ
เพื่อนเล่าว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในมหานครนิวยอร์กน่ากลัวมาก คนตายวันละนับสิบนับร้อยศพ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อยู่รวม ๆ กันในสถานบริบาล การสร้างบ้านพักสำหรับผู้สูงอายุเป็นธุรกิจที่มีการลงทุนทำกันมากในสหรัฐอเมริกา ผู้เข้าอยู่อาศัยไม่ใช่คนจน หากต้องเป็นคนที่มีสินทรัพย์มากพอสมควร เมื่อสองเดือนที่ผ่านมา ผู้สูงอายุในสถานบริบาลเหล่านี้ติดเชื้อและป่วยตายด้วยโควิด-19 เป็นว่าเล่น เพราะมาตรการในการป้องกันการติดเชื้อไม่เคร่งครัดรัดกุมพอ
ผมนึกถึงผู้สูงอายุจำนวนสองร้อยกว่าคนที่พักอยู่ในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค ไม่ปรากฏว่ามีผู้สูงอายุในสถานที่นี้ติดเชื้อโควิด-19 เลยแม้แต่คนเดียว ต้องให้เครดิตแก่ผู้อำนวยการศูนย์ฯ คุณอาภา รัตนพิทักษ์ และเจ้าหน้าที่ที่ช่วยกันวางมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ให้กล้ำกรายเข้ามาในบริเวณบ้านพักสำหรับผู้สูงอายุแห่งนี้ รวมทั้งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่ดูแลบ้านพักคนชราแห่งอื่น ๆ ในประเทศไทยด้วยที่ทำให้ไม่มีผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ๆ ติดเชื้อโควิด-19 เลยแม้แต่คนเดียว
เพื่อนยังได้คุยให้ฟังอีกว่า “โควิดนี่มันน่ากลัวจริง ๆ ใครป่วยติดเชื้อจนต้องเข้าโรงพยาบาลแล้วละก็ โบกมือลาญาติพี่น้องทุกคนได้เลย ไม่มีโอกาสได้เจอหน้ากันอีกแล้ว ไม่มีทางได้ไปเยี่ยมคนไข้ในโรงพยาบาล แล้วก็ไม่ต้องไปงานศพ...”
ผมได้ดูข่าวเกี่ยวกับคนที่เจ็บป่วยและตายเพราะติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศต่าง ๆ เห็นภาพผู้ป่วย (ในบางแห่ง) ที่ต้องนอนเรียงรายระเกะระกะทรมานโดยไม่มีใครดูแล เพราะบุคลากรการแพทย์มีไม่เพียงพอ บุคลากรที่มีอยู่ก็ต้องทำงานหนักและเครียดเพราะพวกเขาต้องเสี่ยงกับการติดเชื้อจากผู้ป่วย
ผมเห็นข่าวรถบรรทุกสินค้าที่นำมาใช้ขนศพคนตายด้วยโควิด-19 ที่มีคนขับมาจอดทิ้งไว้ ณ สถานที่ไม่ใช่โบสถ์ ป่าช้า หรือสถานที่เผาศพ
ผมได้เห็นภาพข่าวการขุดหลุมขนาดใหญ่เพื่อเตรียมฝังศพคนตายที่อยู่ในโลงที่ทำด้วยกระดาษแข็ง รวม ๆ กันหลุมละหลายสิบศพ
ภาพความน่ากลัวของการแพร่ระบาดครั้งนี้ในบางประเทศก็ทำให้โควิด-19 กลายเป็นปีศาจร้ายที่กำลังหลอกหลอน และจ้องเอาชีวิตคนทั้งโลกรวมทั้งคนไทยอยู่ในขณะนี้
นิวนอร์มอลของคนไทยหลังโควิด-19
มาถึงวันนี้ ไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยติดต่อกันมานานถึง 40 วันแล้ว ที่ผ่านมา ไม่ปรากฏภาพน่ากลัวและน่าสังเวชเกี่ยวกับคนไข้และคนตายอันมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย บ้านเรามีแต่ภาพการทำงานอย่างแข็งขันของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ภาพการทำงานช่วยเหลือผู้เดือดร้อนของอาสาสมัครและจิตอาสา ภาพการแบ่งปันอาหารและสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตให้ผู้มีรายได้น้อย นับเป็นภาพที่งดงามที่เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่เลวร้าย
เราคงจะผ่านสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ไปได้ในไม่ช้า ถ้าเราไม่ประมาท คนไทยยัง “การ์ดไม่ตก” โดยยังคงมีพฤติกรรม การใช้ชีวิตที่ป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เหมือนที่ได้เคยประพฤติปฏิบัติมาเป็นปกติในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. และรัฐบาลคาดหวังว่าสิ่งที่คนไทยปฏิบัติมาในช่วงของการต่อสู้กับโควิด-19 จะกลายเป็น “นิวนอร์มอล” หรือวิถีชีวิตใหม่ของคนไทย แม้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลายลงแล้ว
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมแบบใหม่ที่คนไทยจะประพฤติปฏิบัติจนกลายเป็นเรื่องปกติในสังคม (ที่เรียกว่า นิวนอร์มอล หรือ ภาวะปกติใหม่ หรือวิถีชีวิตใหม่ หรือบรรทัดฐานใหม่) ก็ต้องมีความสมดุลกันระหว่างเหตุผลที่จะป้องกันการติดเชื้อหรือการแพร่เชื้อโรค และความเป็นไปได้ที่จะปฏิบัติได้จริงในชีวิตของคน
การล้างมือบ่อย ๆ การนำเรื่องสุขอนามัยเป็นหลักของพฤติกรรมการกินการอยู่นั้น เป็นเรื่องที่มีเหตุผลและปฏิบัติได้ จะเป็นนิวนอร์มอลได้ไม่ยาก แต่มีนิวนอร์มอลบางอย่างที่น่าจะนำมาพูดคุยกันเพื่อกำหนดแนวทางให้ชัดเจน
หน้ากากอนามัย
แน่นอนว่าการใส่หน้ากากอนามัยช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ ทั้งป้องกันไม่ให้ผู้ใส่ติดเชื้อจากคนอื่น และป้องกันการเผยแพร่เชื้อจากผู้ใส่ไปสู่คนอื่น แต่คนเราควรใส่หน้ากากในกาละและเทศะใดจึงจะเหมาะสม…? แม้ผมจะเชื่อว่าโอกาสที่ผมจะติดเชื้อและแพร่เชื้อโควิด-19 ผ่านทางลมหายใจนั้นมีน้อยมาก ๆ แต่ผมก็ใส่หน้ากากอนามัยตามสังคม ที่ไหนมีข้อกำหนดให้ใส่ ผมก็ใส่ ที่ไหนคนเขาใส่หน้ากากอนามัยกันแทบทุกคน ผมก็ใส่ตาม ๆ เขาไป แต่ถ้าทุกคนใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ผมก็คิดว่าไม่น่าจะเป็นพฤติกรรมปกติ ถ้าเราอยู่คนเดียวหรืออยู่กับคนใกล้ชิดในครอบครัว หรืออยู่ห่างจากคนอื่น ๆพอสมควร เราก็น่าจะปลดหน้ากากอนามัยออกเสียบ้าง ทุกคนคงจะรู้สึกเหมือนกันว่าการใส่หน้ากากอนามัยเป็นเวลานานทำให้อึดอัดเพราะลมหายใจเข้าออกของตัวเราเองจะวนเวียนอยู่ภายในหน้ากากนั้น พวกเราคงพอจะรู้ว่าการสูดลมหายใจออกซึ่งเป็นอากาศเสียเข้าไปในร่างกายของเราอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่านั้นน่าจะเป็นโทษ แต่จะทำอย่างไรให้การใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกกาลเทศะเป็นนิวนอร์มอลในสังคมไทย
ผมเป็นห่วงเรื่องความพยายามที่จะทำให้การใส่หน้ากากอนามัยเป็นนิวนอร์มอลของเด็กเล็ก ๆ ผมสลดใจเมื่อเห็นเด็ก ๆ ตามชนบทต้องใส่หน้ากากอนามัยเดินผ่านท้องไร่ทุ่งนาไปโรงเรียน ถ้าจะให้การใส่หน้ากากอนามัยเป็นนิวนอร์มอลก็ขอให้เป็นนิวนอร์มอลเฉพาะพื้นที่เถิด ขออย่าเหมารวมว่าการใส่หน้ากากอนามัยจะเป็นนิวนอร์มอลของ “สังคมไทย” ตลอดเวลาและทุกพื้นที่เลย
การเว้นระยะห่างทางสังคม
“การเว้นระยะห่างทางสังคม” เป็นการปฏิบัติปกติของคนในสังคมไทยในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 การเว้นระยะห่างทางกายภาพระหว่างตัวบุคคลนี้ นับว่าเป็นมาตรการสำคัญที่ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่แพร่เชื้อได้ด้วยการสัมผัส การที่โควิด-19 ไม่แพร่ระบาดหนักในประเทศไทย ก็น่าจะเป็นเพราะคนไทยปฏิบัติการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด เราได้เห็นภาพคนไทยมีวินัย เว้นระยะห่างระหว่างกันในขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ มีการเข้าแถว เรียงคิวอย่างเป็นระเบียบเพื่อรับบริการ แล้วเราก็หวังว่าการเว้นระยะห่างระหว่างกันเช่นนี้ จะกลายเป็นนิวนอร์มอลอีกอย่างหนึ่งเมื่อวิกฤติโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว
ผมไม่แน่ใจว่าการเว้นระยะห่างทางสังคมจะกลายเป็นนิวนอร์มอลได้มากน้อยระดับไหน ในระหว่างสถานการณ์ โควิด-19 เราคงได้ยินเรื่องที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับการเว้นระยะห่างทางสังคมมาบ้าง ผมได้เห็นกับตาตัวเองมาแล้ว ครอบครัวหนึ่งน่าจะเป็นพ่อ แม่ ลูก เดินจูงมือกันเข้ามาในร้านอาหาร เพื่อให้เป็นไปตามกฎกติกาของร้าน ทั้งสามคนต้อง นั่งแยกจากกัน พ่อไปนั่งที่หนึ่ง แม่นั่งที่หนึ่ง และลูกไปนั่งอีกที่หนึ่ง เมื่อกินเสร็จแล้ว ทั้งสามเดินออกมารวมตัวกันหน้าร้าน แล้วเดินจูงมือกันกลับบ้าน
ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 กำลังรุนแรง มีคำแนะนำจาก ศบค. ว่า ลูกหลานไปเยี่ยมพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือผู้อาวุโส ก็อย่าไปสัมผัสเนื้อตัวของท่าน ผู้สูงอายุเป็นเป้าของโควิด-19 ลูกหลานอาจนำเชื้อไปติดท่านได้
มีเรื่องเล่าเพื่อล้อนิวนอร์มอลนี้ว่า คู่สมรสจะมีเพศสัมพันธ์กันก็จะต้องเว้นระยะห่างทางสังคมกันพอสมควร
การเว้นระยะห่างทางสังคมมีข้อดีหลายประการ ทำให้คนไม่แก่งแย่งชิงพื้นที่กัน สังคมดูมีระเบียบวินัยมากขึ้น แต่ผมก็ยังนึกไม่ออกว่าเรื่องนี้ถ้าจะเป็นนิวนอร์มอลจะปฏิบัติกันอย่างไรในพาหนะขนส่งมวลชน เช่น รถไฟ รถไฟฟ้า รถเมล์ เครื่องบิน และการดูกีฬาในสนามจะต้องลดจำนวนที่นั่ง ที่ยืน อย่างนั้นหรือ นึกไม่ออก ๆ
ถ้าการเว้นระยะห่างทางสังคมจะกลายเป็นนิวนอร์มอลขึ้นมาจริง ๆ ผมก็ภาวนาขอให้อย่าต้องเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลทุกประเภทเลย พ่อจะกอดลูก หลานจะกราบที่ตักคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยาย พี่ ๆ น้อง ๆ จะเล่นกอดรัด ฟัดเหวี่ยงกันบ้าง ครอบครัวกลุ่มเพื่อน จะไปกินข้าวร่วมโต๊ะเดียวกันในร้านอาหาร ก็ขอให้เป็นโอลด์นอร์มอล หรือความปกติแบบเก่า ๆ เถิด
ผมเชื่อว่าเมื่อสถานการณ์โควิด-19 ผ่านพ้นไป คนไทยก็ต้องปรับตัว และคงจะมีนิวนอร์มอลบางอย่างเกิดขึ้นในสังคมไทย นิวนอร์มอลจะเกิดขึ้นได้น่าจะเป็นพฤติกรรมปกติที่ประพฤติปฏิบัติได้โดยไม่ขัดกับธรรมชาติของมนุษย์ และมีประสิทธิภาพแน่ชัดว่าพฤติกรรมใหม่นั้นมีประโยชน์อย่างไร ไม่ใช่ให้คนมีนิวนอร์มอลเพื่อแสดงว่าเขาเป็นคนรักชาติเพียงเท่านั้น
บทความโดย ปราโมทย์ ประสาทกุล
จดหมายข่าวประชากรและการพัฒนา ปีที่ 40 ฉบับที่ 6 เดือนสิงหาคม - กันยายน 2563