อายุยืนอย่างมีสุขภาพดี มีพลังและยังประโยชน์
วันที่ : 12 พฤษภาคม 2564 1,823 ครั้ง

ผมไม่ตื่นเต้นมากนักเมื่อถึงวันครบรอบวันเกิดของตัวเอง มีความสุขในวันนี้ก็ตรงที่ได้รับคำอวยพรจากญาติสนิท มิตรสหาย เพื่อนร่วมงาน และคนรู้จัก คำอวยพรส่งมาถึงผมทั้งโดยตัวตนของผู้ให้พรจริงๆ ส่งเสียงมาทางโทรศัพท์ และส่งเป็นข้อความมาทางโซเชียลมีเดีย

หากจะมีสิ่งที่ผมคาดหวังจะได้รับในวันเกิดอยู่บ้างก็คงเป็นคำอวยพรสั้นๆ ว่า “แฮปปี้เบิร์ดเดย์” จาก ลูกๆ ได้ยินเสียงของลูกทุกคนในวันนี้ก็สุขใจมากแล้ว

เมื่อถึงวันเกิด ย่อมเท่ากับว่าเรามีอายุมากขึ้น (ไม่อยากใช้คำว่า “แก่ขึ้น”) อีกหนึ่งปี ผมจัดอยู่ในประเภท “ผู้สูงอายุวัยกลาง” (อายุ 70-79 ปี) แล้ว แต่ผมกล้าพูดโดยไม่เข้าข้างตัวเองได้อย่างเต็มปากว่าทุกวันนี้ผมยังเป็น “ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี มีพลัง และยังประโยชน์”

ผมลองประเมินสภาพของตัวเองในวันนี้ ผมยังไม่มีโรคประจำตัวที่หนักหนาสาหัสอะไร ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย โรคหัวใจ โรคทางเดินหายใจ โรคเบาหวาน โรคกระเพาะหรือลำไส้ หรือโรคเกี่ยวกับความจำและสมอง (ที่สำคัญ ผมยังไม่ติดเชื้อโควิด 19) ผมยังเดินได้คล่องแคล่ว(แม้จะไม่วิ่งแล้ว) โดยยังไม่ต้องใช้ไม้เท้า สายตาผมยังดี อ่านหนังสือโดยไม่ต้องใช้แว่นตายังพอได้ หูยังได้ยินชัด (โดยเฉพาะมธุรสวาจา) ผมยังไม่ใช้ฟันปลอมเป็นแผงหรือทั้งปากผมยังขับรถไปไหนมาไหนได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน (แต่มีหลงทางบ่อยครั้งขึ้นเล็กน้อย)

ในวัยเท่านี้ แม้ผมจะเกษียณอายุอย่างเป็นทางการแล้ว แต่ก็ยังทำงานเต็มเวลาทุกวัน จนบางครั้งผมตั้งคำถามถามตัวเองว่า ถ้าไม่ทำงานแล้ว วันๆ หนึ่งเราจะทำอะไร ผมโชคดีที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคม จัดห้องทำงานไว้ให้ผม ผมเป็นกรรมการและที่ปรึกษาให้หน่วยงานทั้งราชการและองค์กรพัฒนาเอกชน เช่นมูลนิธิ สมาคมหลายแห่ง ผมช่วยเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับงานวิจัยให้กับน้องๆ อีกหลายโครงการ ผมยังสนุกกับการทำงาน และคิดว่าตัวเองยังเป็นประโยชน์และมีคุณค่า

เราจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกนานเท่าไร?
คำถามที่ผมคิดถามตัวเองอยู่เสมอ คือ “เราจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกนานเท่าไร” และคำตอบที่ตอบตัวเองทุกครั้งก็คือ “เราคงมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกไม่นาน”

เพื่อนบางคนเห็นผมสนใจเรื่อง “ศตวรรษิกชน-คนร้อยปี” ก็เข้าใจว่าผมอยากจะมีอายุยืนถึงร้อยปี จนเป็นศตวรรษิกชนกับเขาบ้าง ผมบอกทุกคนว่า ไม่คิดจะมีชีวิตอยู่ถึงร้อยปีและออกตัวว่า ไม่อาจหาญประกาศเจตนาที่จะมีอายุยืนถึงร้อยปีอย่างคุณหมอเฉก ธนะสิริ และคุณพี่อุดม มาศพงศ์

คุณหมอเฉก ธนะสิริ ประกาศว่าจะมีชีวิตอยู่ให้ได้ถึง 120 ปี ปลายปี 2564 นี้คุณหมอเฉก ก็จะมีอายุถึง 96 ปีแล้ว ผมติดตามข่าวสุขภาพของคุณหมอเฉกเรื่อยมา เมื่อปีกลายยังได้รับรู้ว่าท่านยังแข็งแรง ยังว่ายน้ำเป็นประจำ คิดว่าท่านยังคงทำท่ากายกรรมกลับเอาศีรษะยืนพื้น เท้าชี้ฟ้า จนถึงวันนี้ คุณหมอเฉก นับเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีมากๆ ผมคงมีโอกาสได้เห็นคุณหมอ “อายุ 100 ปี ชีวีเป็นสุข”

ผู้สูงอายุอีกคนหนึ่งที่ตั้งใจจะมีชีวิตอยู่ให้ถึง 100 ปี หรือมากกว่านั้น คือ คุณอุดม มาศพงศ์ ปีนี้ท่านมีอายุ 93 ปี คุณอุดมเป็นผู้มีอายุเกิน 90 ปี เพียงไม่กี่คนในโลกที่สามารถวิ่งมาราธอนระยะทาง 42.195 กิโลเมตร ได้ถึง 100 ครั้ง คุณตาอุดม ตามรูปที่เผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย ดูอายุไม่มาก ใครๆ ต่างเรียกท่านว่า “พี่อุดม” แม้อายุเกิน 90 ปีแล้ว แต่พี่อุดมก็ยังออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน โดยตื่นตั้งแต่ตี 4 ทำโยคะ 30 นาที เวลาบ่ายออกวิ่ง ขี่จักรยาน ตอนเย็นไปร่วมเต้นแอโรบิค

พี่อุดม เป็นผู้สูงอายุที่ทันสมัยมาก ท่านกล่าวว่า “เรายังไม่ตาย ก็ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ต้องทำตัวให้ update ตลอดเวลา ต้องหายใจรดต้นคอเด็กๆ ไว้”

พี่อุดม ตั้งใจจะอยู่ให้ได้ถึง 100-120 ปี โดย “อยู่อย่างแข็งแรงและยังวิ่งได้” คือ “มีชีวิตอยู่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพ ไม่เป็นภาระกับใคร”

อยู่อย่างไม่เป็นภาระกับใคร
เดี๋ยวนี้ เพื่อนๆ รุ่นราวคราวเดียวกับผมคุยกันมากขึ้นเกี่ยวกับชีวิตในบั้นปลาย เมื่อพวกเรามีชีวิตยืนนานจนมาถึงจุดนี้ จุดที่เห็นความตายใกล้ตัวเข้ามาทุกขณะ เห็นคนรุ่นเดียวกันตายไปเรื่อยๆ เราจึงมีมรณานุสติ พวกเราพูดกันเรื่องการเตรียมตัวตาย เกือบทุกคนอยากจะจากโลกนี้ไปอย่างไม่เจ็บปวดทรมาน ไม่ต้องมีช่วงเวลาที่ช่วยตัวเองไม่ได้และต้องเป็นภาระกับคนอื่น พวกเราเห็นพ้องกันว่า คนที่มีสุขภาพแข็งแรงอยู่ดีๆ แล้วหลับตายไปอย่างสงบ เรียกได้ว่าเป็นคนมีบุญ

ผมอยากจะจากโลกนี้ไปอย่างคนมีบุญบ้าง อยากจะตายอย่างสงบโดยไม่มีช่วงเวลาก่อนตายที่เป็นภาระกับคนอื่น แต่ในทางความเป็นจริง คงไม่ง่ายนักที่ชีวิตของคนเราจะเป็นเช่นนั้น ส่วนใหญ่คนเราจะมีช่วงระยะเวลาหนึ่งที่เจ็บป่วยก่อนตาย ต้องอยู่ในสภาพที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องมีคนดูแลใกล้ชิดตลอดเวลา

ทุกวันนี้ ผมพยายามปรับพฤติกรรมของตัวเองด้วยความหวังว่า จะเป็นหนทางที่ช่วยลดระยะเวลาที่อาจต้องพึ่งพาคนอื่นในปั้นปลายของชีวิต ผมได้รับความรู้และคำแนะนำจากหลายๆ แหล่งว่า ควรทำอย่างไรจึงจะมีอายุสูงขึ้นอย่างมีสุขภาพดี และมีพลัง ผมได้รับข้อเสนอแนะในเรื่องการปฏิบัติตนจากผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากที่เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ รวมทั้งโซเชียลมีเดีย ผมขอประมวลหลักปฏิบัติเหล่านั้นมานำเสนอเป็นข้อๆ ดังนี้

  • ออกกลางแจ้งให้ร่างกายได้รับแสงแดดบ้าง เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินดี แสงแดดทั้งในยามเช้า สาย บ่าย เย็น ล้วนมีประโยชน์
  • ให้ร่างกายเคลื่อนไหวบ้าง อย่านั่งนิ่งๆ อยู่เป็นเวลานานเช่น นั่งจมอยู่กับโต๊ะทำงาน จับจ้องอยู่แต่หน้าจอโทรศัพท์มือถือ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ ควรทำให้การออกกำลังกายเป็นนิสัย
  • กินอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ไม่กินอาหารที่มีรสจัดกินผัก ผลไม้ และอย่ากินมากเกินไป
  • ดื่มน้ำให้มากไว้
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ให้ความสำคัญกับการนอนเป็นลำดับแรกๆ
  • ทำใจให้เป็นสุขอยู่เสมอ คิดเชิงบวก มีทัศนคติที่ดีต่อชีวิต
  • อย่าเครียด หาเรื่องขำๆ ให้ตัวเองได้ยิ้มและหัวเราะบ้าง
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่พอสมควร
  • ไม่สูบบุหรี่ และเสพยาเสพติดทุกชนิด
  • อย่าปล่อยร่างกายให้อ้วนจนลงพุง รักษาน้ำหนักตัวให้ได้ตามมาตรฐาน
  •  หลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่มีมลพิษ ไม่อยู่ในที่ที่มีฝุ่นละอองมาก
  • หลีกเลี่ยงสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (electrical magnetic field – EMF) ซึ่งเกิดจากโทรศัพท์มือถือ รีโมทไฟฟ้าต่างๆ อุปกรณ์ที่มีแม่เหล็กไฟฟ้าเหล่านี้ควรวางไว้ไกลตัวขณะนอนพักผ่อน
  • เข้าสังคมบ้าง ไปพบปะเพื่อนฝูงตามสมควร
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

ผมมั่นใจว่า ถ้าเราปฏิบัติตัวตามหลักการทั้ง 15 ข้อนี้แล้ว ตลอดเวลาที่เรามีอายุสูงขึ้น เราก็จะมีสุขภาพดีและมีพลัง สำหรับตัวผมเอง จะพยายามทำตามหลักการเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด

วันเกิดของผมปีนี้ ตั้งใจจะวาดภาพลิง 3 ตัว เป็นของขวัญให้กับตัวเอง ถ้าผมสามารถปิดหู ปิดตา ปิดปากของตัวเองได้ตามกาลเทศะที่เหมาะสม  ผมคงจะสุขกายสุขใจไปจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต และตายจากไปอย่างคนมีบุญ

 

บทความโดย  ปราโมทย์ ประสาทกุล 

จดหมายข่าวประชากรและการพัฒนา ปีที่ 41 ฉบับที่ 4 เดือนเมษายน - พฤษภาคม 2564

จดหมายข่าวฯ


สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170