พลังสืบทอดพันธุ์ของคนรุ่นใหม่ถดถอยลง
วันที่ : 543 1,564 ครั้ง

ไชโย...ผมเป็น "ปู่" แล้ว

ลูกชายเป็นผู้ทำให้ผมได้สถานภาพนี้ด้วยการมีลูกชายคนแรกเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมอายุ 67 ปีเมื่อมีหลานคนแรก ออกจะมากไปสักหน่อยเมื่อเปรียบเทียบกับพ่อผมที่เป็นปู่เมื่ออายุเพียง 56 ปี

นอกจากพ่อของผมจะมีหลานคนแรกเร็วกว่าผมหลายปีแล้ว พ่อยังมีหลานจำนวนมากกว่าผมหลายคน พ่อผมเป็นปู่เป็นตาของหลาน 10 คน แต่จนบัดนี้ ผมมีหลานเพียงคนเดียว คนรุ่นหลานของพ่อผลิตเหลนให้ทวดเพียงแค่ 2 คน เพราะหลานๆ ซึ่งแม้จะเป็นผู้ใหญ่ถึงวัยเจริญพันธุ์กันหมดทุกคนแล้ว แต่ก็แต่งงานมีครอบครัวไปเพียง 3 คน หลานทั้งหมดคงจะให้เหลนแก่พ่อแม่ของผมไม่เกินจำนวนสองคนนี้ไปมากนัก

 ลูกชายที่ให้หลานปู่แก่ผมเรียกได้ว่าเป็น "คนรุ่นเกิดล้าน" ผมชอบพูดถึงคนรุ่นนี้ว่าหมายถึงคนที่เกิดในช่วงเวลา 20 ปีระหว่างปี 2506 ถึง 2526 ซึ่งมีเด็กเกิดในประเทศไทยมากกว่าล้านคนในแต่ละปี โดยเฉพาะในปี 2512 มีเด็กเกิดในประเทศไทยมากเป็นประวัติการณ์ คือเกิดมากถึง 1 ล้าน 2 แสนคน คนรุ่นเกิดล้านเป็นคลื่นประชากรที่ใหญ่มาก ผมเรียกคนรุ่นนี้ว่าเป็น "สึนามิประชากร" ปีนี้ (2559) คนรุ่นเกิดล้านมีอายุ 33-53 ปีกำลังจะกลายเป็นผู้สูงวัยในอีกไม่กี่ปีนี้แล้ว

ผมขอตั้งข้อสังเกตว่าคนรุ่นเกิดล้านที่มีจำนวนมากถึง 20 กว่าล้านคนนี้กลับมี "พลังสืบทอดพันธุ์" ถดถอยลง

"พลังสืบทอดพันธุ์" ศัพท์คำนี้ ผมเขียนไปแล้วก็ยังอดยิ้มไม่ได้เมื่ออ่านทวน ที่จริง ผมเพียงต้องการจะพูดว่าคนรุ่นหลังหรือคนรุ่นใหม่มีลูกกันน้อยลง หมายถึงว่าประชากรรุ่นต่อๆ มาที่จะทำหน้าที่สืบทอดเผ่าพันธุ์ของคนไทยให้กำเนิดลูกเป็นจำนวนลดน้อยลง และมีท่าทีว่าจะลดน้อยลงไปอีกในอนาคต หลังปี 2539 จำนวนเกิดในประเทศไทยก็ต่ำกว่าปีละ 9 แสน จนถึงปี 2542 เราก็ได้เห็นจำนวนเกิดในประเทศไทยต่ำกว่าเลขหลัก 8 แสนเป็นครั้งแรก จากนั้นจำนวนเกิดขึ้นๆ ลงๆ เรี่ยๆ อยู่ใกล้เคียงกับ 8 แสนคนต่อปี จนกระทั่งในปี 2557 มีเด็กเกิดในประเทศไทยเพียง 7 แสน 7 หมื่นคน ผมกำลังรอดูประกาศของกระทรวงมหาดไทยว่าปี 2558 ที่เพิ่งผ่านมา จะมีการเกิดที่มาจดทะเบียนสักกี่ราย จะมากหรือน้อยกว่าปีก่อน

จำนวนเด็กเกิดในแต่ละปีที่ลดลงเรื่อยๆ ในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมานี้ทำให้โครงสร้างอายุของประชากรไทยเปลี่ยนไปอย่างมาก สัดส่วนประชากรวัยเด็กได้ลดต่ำลง ต่อไปประชากรที่เข้าสู่วัยแรงงานก็จะลดจำนวนลง ในขณะที่สุขภาพของคนไทยดีขึ้น คนไทยมีอายุยืนยาวขึ้น สัดส่วนและจำนวนของประชากรสูงอายุก็จะเพิ่มมากขึ้น ประเทศไทยได้กลายเป็นสังคมสูงวัยแล้วดังเป็นที่ทราบกันทั่วไป ที่สำคัญคืออัตราเกิดที่ลดต่ำลงได้ทำให้หลายฝ่ายตกใจและเป็นห่วงกังวลกันว่าประชากรไทยกำลังจะลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ จนถึงกับเสนอความเห็นกันว่ารัฐบาลควรจะต้องมีนโยบายส่งเสริมการเกิดเพื่อรักษาเผ่าพันธุ์ของคนไทยเอาไว้

หลายประเทศประสบปัญหาอัตราเกิดลดต่ำลง

ที่จริงแล้ว การที่คนรุ่นใหม่มีลูกกันน้อยลงเป็นปรากฏการณ์ทางประชากรที่เกิดขึ้นในเกือบทุกประเทศทั่วโลก เด็กเกิดน้อยดูเหมือนจะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการพัฒนาของประเทศ ประเทศยิ่งพัฒนาทางเศรษฐกิจมากขึ้น คนในประเทศนั้นก็จะยิ่งมีลูกกันน้อยลง ผู้หญิงในประเทศยุโรปตะวันตกมีลูกโดยเฉลี่ยไม่เกินคนละ 2 คน ในทวีปเอเชีย ผู้หญิงสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน มีลูกเฉลี่ยคนละ 1.2-1.3 คนเท่านั้น หลายประเทศพยายามผลักดันให้คนในประเทศของตนมีลูกกันมากขึ้น แต่เกือบทุกประเทศก็ต้องสารภาพว่าไม่ประสบความสำเร็จ ลี กวน ยู อดีตประธานาธิบดี ผู้นำพาประเทศที่มีพื้นที่เล็กๆ อย่างสิงคโปร์ให้ยิ่งใหญ่ติดอันดับต้นๆ ของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก ก็ยังยอมรับว่าสิ่งที่ยังค้างคาใจอยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิตคือทำให้คนสิงคโปร์มีลูกกันมากขึ้นไม่สำ.เร็จ

เป็นที่น่าสังเกตว่าคนรุ่นใหม่ในเกือบทุกประเทศ ไม่ว่าจะรวยหรือจน พัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา จะมีลูกน้อยกว่าคนรุ่นก่อน การอยู่เป็นโสดและการมีลูกน้อยกลายเป็น "วิถีชีวิต" ของคนรุ่นใหม่ในสังคมสมัยใหม่ การแต่งงานสร้างครอบครัวแล้วมีลูกหลายๆ คนไม่เป็นค่านิยมของคนรุ่นใหม่อีกต่อไปแล้ว

การที่ประเทศไทยมีเด็กเกิดน้อยลงจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ วิถีชีวิตของคนในสังคมไทยก็ได้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันกับของประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ ถ้าจะทำให้คนไทยรุ่นใหม่มีลูกกันมากขึ้นก็หมายถึงว่าจะต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนในสังคมกันเลยทีเดียว .... ผมว่ายากอยู่เหมือนกันนะครับ

แม้จะยาก...แต่ก็อยากให้ประเทศไทยมีเด็กเกิดเพิ่มมากขึ้น

สมมุติว่าประเทศไทยของเราต้องการให้มีเด็กเกิดไม่ต่ำกว่าปีละ 8 แสนคนต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้เพียงพอที่จะรักษาสมดุลกับจำนวนคนตายในแต่ละปี ให้แต่ละปีมีจำนวนเกิดมากกว่าจำนวนตาย ซึ่งจะทำให้อัตราเพิ่มประชากรจะยังคงเป็นบวกต่อไปเรื่อยๆ ปัญหามีอยู่ว่าเราจะไปเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนไทยรุ่นใหม่ได้อย่างไร วิถีชีวิตที่คนอยากจะอยู่อย่างอิสระเสรี ไม่อยากแต่งงาน คนที่แต่งงานแล้วก็ไม่อยากมีลูกมาก

ในสังคมไทยยุคใหม่ ผู้หญิงมีการศึกษาสูงขึ้น มีสถานภาพสูงขึ้น ทำงานนอกบ้านมากขึ้น เดี๋ยวนี้ผู้หญิงมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับผู้ชายจน "ขบวนการเรียกร้องสิทธิของสตรี" (women lib) ชักจะล้าสมัยไปเสียแล้ว เพราะผู้หญิงไทยยุคใหม่มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับผู้ชาย ทุกวันนี้ ผู้หญิงรุ่นใหม่เลือกที่จะอยู่เป็นโสดมากขึ้น การอยู่เป็นโสด ไม่แต่งงาน สังคมก็ยอมรับ ไม่ตราหน้าว่าขึ้นคานหาคู่ไม่ได้ เมื่อผู้หญิงที่ไม่แต่งงานมีมากขึ้น ก็เท่ากับคนที่จะทำหน้าที่ผลิตลูกน้อยลง กำลังในการผลิตลูกของประชากรไทยก็จะน้อยลงตามไปด้วย

การแต่งงานเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิด ถ้าคนรุ่นใหม่ไม่ยอมแต่งงาน ไม่ยอมมีคู่กัน ก็ยากที่จะทำ.ให้การเกิดในแต่ละปีมีจำนวนมากขึ้น

นอกจากคนรุ่นใหม่จะอยู่เป็นโสดเพิ่มมากขึ้นแล้ว ทุกวันนี้ คนไทยรุ่นใหม่ที่แต่งงานแล้วก็มีลูกกันไม่มากนัก เราคงต้องทำความเข้าใจวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ การมีลูกในสังคมสมัยใหม่ไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อน สมัยนี้ จะมีลูกสักคนต้องคิดแล้วคิดอีก ต้องคิดถึงอนาคตของทั้งลูกและของตัวพ่อแม่เอง ผู้หญิงที่ทำ.งานนอกบ้านต้องคิดถึงว่าถ้ามีลูกแล้วจะเลี้ยงอย่างไรไม่ให้เสียงาน การลาหยุดงานเพื่อเลี้ยงลูกจะทำให้เสียรายได้ สมัยนี้ มีการส่งเสริมให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คนจะมีลูกก็ต้องคิดว่าจะให้นมลูกอย่างไร และใครจะช่วยเลี้ยงดูลูกในช่วงเวลาที่ลูกยังเป็นทารก

ถ้าแบ่งเบาภาระพ่อแม่ในการเลี้ยงดูลูกได้ อัตราเกิดก็อาจสูงขึ้นบ้าง

ถ้าภาระของพ่อแม่ในการเลี้ยงดูลูกลดน้อยลง คนไทยก็อาจจะอยากมีลูกมากขึ้น ดังนั้น ถ้ารัฐบาลจะมีนโยบายให้คนไทยมีลูกกันมากขึ้น ก็คงต้องคิดหาทางแบ่งเบาภาระพ่อแม่ในการเลี้ยงดูลูก ปัจจุบันองค์การราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทใหญ่ๆ ให้สิทธิแม่ลาคลอดและอยู่บ้านเลี้ยงลูกได้นานถึง 3 เดือน ราชการให้สิทธิพ่อลาเพื่อช่วยแม่เลี้ยงลูกได้นานถึง 15 วันทำการ และต่อไปอาจขยายเวลาแม่และพ่อลาคลอดได้นานกว่านั้น หน่วยงานต่างๆ อาจต้องสนองนโยบายส่งเสริมการเกิดด้วยการจัดพื้นที่ในหน่วยงานสำหรับเลี้ยงดูเด็ก แต่สวัสดิการอย่างนี้ก็อาจไม่ใช่แรงจูงใจให้คนมีลูกเสมอไป เพราะการลางานเป็นเวลานานเพื่อเลี้ยงลูกอาจทำให้ตัวแม่หรือพ่อเองเสียโอกาสที่จะก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานได้ ข้อที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างคือสถานประกอบการบางแห่งอาจใช้นโยบายแนวนี้เป็นเหตุผลที่จะเลือกปฏิบัติในการจ้างแรงงาน เช่นเลือกจ้างเฉพาะคนโสด หรือคนที่ไม่มีลูก เพื่อไม่ต้องจัดสวัสดิการเกี่ยวกับการมีลูกของคนงาน

คิดไปก็ยากอีกเหมือนกัน การให้พ่อแม่ลางานเพื่อเลี้ยงลูกระยะแรกคลอด และการจัดสถานที่ดูแลเด็กอ่อนในสถานที่ทำงานนั้น อาจไม่ใช่แรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่อยากมีลูกเพิ่มมากขึ้นก็ได้

ถ้าอยู่กันอย่างแออัด แล้วใครจะอยากมีลูกมาก

ที่อยู่อาศัยเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนจะแต่งงาน หรือจะมีลูกจะต้องคิด น่าเห็นใจนะครับ...ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยที่อยู่อาศัยบ้านแคบๆ สมมุติว่ามีลูกสองสามคน เมื่อลูกยังเป็นเด็กตัวเล็กๆก็ยังพออยู่กันได้ แต่พอลูกโตเป็นวัยรุ่น เป็นผู้ใหญ่ พื้นที่ที่อยู่อาศัยเท่าเดิมก็จะแออัด อยู่ร่วมกันทั้งครอบครัวขนาดสามสี่คนยากเสียแล้ว เดี๋ยวนี้ การจะแยกครัวเรือนออกไปหาที่อยู่ใหม่ก็ใช่ว่าจะหาได้ง่ายๆ ที่ดินมีราคาแพงขึ้น ที่รกร้างว่างเปล่าให้เข้าไปจับจองก็ไม่มีแล้ว ถ้าจะมีลูก คู่สามีภรรยาก็อาจต้องคิดว่าจะมีพื้นที่สำหรับสมาชิกเกิดใหม่มากน้อยอย่างไร ยิ่งคิดจะมีลูกคนที่สอง คนที่สาม ก็ยิ่งยากที่จะคิดเรื่องพื้นที่ที่อยู่อาศัยสำหรับลูกๆ

ผมเคยไปดูบ้านเอื้ออาทรที่การเคหะแห่งชาติสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสเป็นเจ้าของ บ้านเดี่ยวบนพื้นราบสร้างบนพื้นที่ประมาณ 20 ตารางวา ลักษณะเป็นบ้านสองชั้น สองห้องนอน หนึ่งห้องน้ำ ผมคิดว่าคู่สามีภรรยาสองคนอาจจะพออาศัยอยู่ในบ้านขนาดนี้ได้ แต่ถ้าจะมีลูก อาจต้องคิดหนักหน่อยว่าจะพออยู่กันอย่างไม่แออัดได้หรือไม่อย่างไร

ถ้าประเทศไทยอยากให้คนไทยมีลูกมากขึ้นจริงๆ ก็คงต้องหาทางจัดการเรื่องที่อยู่อาศัยให้กลายเป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งให้คนแต่งงานและมีลูก...น่าคิดว่าจะจัดการได้หรือเปล่า

สังคมไทยสมัยใหม่ไม่ชวนให้คนอยากมีลูก

สภาพสังคมมีความสำคัญต่อการตัดสินใจในการแต่งงานและมีลูกของคนในสังคมด้วย เดี๋ยวนี้ ค่านิยมของสังคมไทยได้เปลี่ยนไปมาก แต่ก่อน ผู้ใหญ่เคยอวยพรให้คู่บ่าวสาวมีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง มีลูกหัวปีท้ายปี เดี๋ยวนี้ เราไม่ได้ยินคำอวยพรเช่นนั้นอีกแล้ว สภาพสังคมไทยเปลี่ยนไปในลักษณะที่สร้างความเป็นห่วงกังวลให้กับคนรุ่นใหม่ที่คิดจะมีลูก ภาพความยากลำ.บากในการเลี้ยงลูกในขณะที่ต้องทำงานหารายได้ การหาคนช่วยดูแลลูกวัยทารก การหาโรงเรียนเพื่อการศึกษาของลูก การเลี้ยงลูกให้รอดพ้นจากความเสี่ยงต่อภัยสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงในวัยรุ่น ปัญหายาเสพติด หรือปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวของวัยรุ่น

ถ้าสังคมไทยมีสภาพที่สงบร่มเย็นมากกว่านี้ ก็อาจทำให้คนรุ่นใหม่อยากแต่งงานและมีลูกกันมากขึ้นก็ได้

วันนี้ ผมขึ้นต้นบทความนี้ด้วยการร้องไชโยเพื่อฉลองการมีหลานคนแรก เขียนไปเขียนมาก็ชักไม่แน่ใจเสียแล้วว่าอีกนานเท่าไรจึงจะได้ "ไชโย" สำหรับหลานคนที่สอง แต่เมื่อผมทำความเข้าใจกับสถานการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนไปแล้ว ก็ทำใจได้ ลูกๆเป็นคนรุ่นใหม่ เขามีวิถีชีวิตอย่างนั้น จะแต่งงาน มีลูกหรือไม่มี หรือมีกี่คน ย่อมเป็นเรื่องของเขา...คนรุ่นใหม่

ที่มา : http://www.newsletter.ipsr.mahidol.ac.th/index.php/component/content/article/107-vol36-no3/347-new-generation.html


สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170