อายุ 120 ปี ดูทีว่าจะน้อยไป?
วันที่ : 543 1,817 ครั้ง

เฉก ธนะสิริ

ประธานมูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิมฯ พ.ศ. 2547 ผมได้ตั้งเป้าหมาย (โปรมแกรมจิต) ไว้นานแล้วว่า อยากจะทดลองให้มีอายุยืนถึง 120 ปี อย่างมีคุณภาพ แต่ปรากฏว่าในการประชุมอายุยืนยาวระหว่างประเทศที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส (Anti-Aging World Conference) เมื่อเร็วๆ นี้ เอง (2005) ได้รายงานทางวิชาการว่า มนุษย์น่าจะมีอายุยืนยาวเป็นปกติถึง 200 ปี!
ดังนั้นบทความที่ผมเคยเขียนลงในมติชนเมื่อ พ.ศ. 2546 เรื่อง "ชีวิตเมื่อตั้งต้น 80" น่าจะล้าสมัยและเชยแหลกไปเสียแล้ว
 
พิจารณาจากหลักวิชาสถิติพยากรณ์ชีพ และการแพทย์แล้วมีเหตุผล และน่าจะเป็นความจริง เพราะย้อนหลังไป 105 ปี คือ ค.ศ.1900 อายุขัยถัวเฉลี่ย คนอเมริกาและยุโรปเพียง 40 ปี พอ ค.ศ. 2000 อายุขัยเพิ่มอีกเท่าตัว คือ 80 ปี ดังนั้นอีก 100 ปี คือ ค.ศ. 2100 อายุขัยน่าจะเพิ่มอีกเท่าตัวคือ 160 ปี ซึ่งดูว่ายืนยาวมากแล้วก็จริง แต่ตามหลักวิชาใหม่ที่สุดอายุ 160 ปี ยังน้อยไปถ้ามนุษย์สามารถปฏิบัติตัวได้ตามหลักพันธุศาสตร์

อะไรก็ตาม ถ้ามันเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ มันก็น่าจะเป็นคำตอบสุดท้ายและน่าจะถูกต้องที่สุดดังนั้น ถ้าเราปฏิบัติตัวได้ถูกต้องตามหลักการนี้จริงๆ แล้ว ความรู้สึกตัวว่า "แก่" หรือ "สูงอายุ" น่าจะเริ่มเมื่ออายุสัก 100 ถึง 120 ปี ! มิใช่ 60 ปีหรือ 80 ปี อย่างแน่นอนจะเป็นไปได้หรือไม่ ? ยังไม่ทราบ ต้องใช้เวลาทดลองปฏิบัติตัวในลักษณะ "กรณีศึกษา" (Case study) ซึ่งผมได้ทดลองทำตัวเป็น "หนูทดลอง" มานาน 40 ปี ให้เป็นตัวอย่าง จึงขอให้ท่านที่สนใจลองติดตามดูไปเรื่อยๆ จะถึงหรือไม่ถึงเป้าหมายอย่างไร อนาคตไม่มีใครรู้ได้ ข้อสำคัญคือท่านที่สนใจเรื่องนี้อย่ารีบด่วนตายไปก่อนก็แล้วกัน
ส่วนวิธีปฏิบัติที่จะให้ถึงเป้าหมายดังกล่าวนั้นใช้หลักเดิมคือ พันธุกรรม 30% พฤติกรรม 60% ครอบครัวและสิ่งแวดล้อม 10% ในการประชุมครั้งนี้ได้ให้ความสำคัญทางพันธุกรรมมากเป็นพิเศษ ด้วยเหตุผลที่ว่า ชีวิตของทุกคนถูกกำหนดหรือลิขิตมาแล้วตั้งแต่ถือกำเนิดมา ส่วนใหญ่ที่อายุขัยต่ำกว่าความน่าจะเป็นก็เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิต (Life style) ของผู้นั้นเอง

ความยากง่ายของ "พันธุกรรม"กับ "พฤติกรรม" อย่างไหนจะทำได้ยากง่ายกว่ากัน? ตามความเห็นของผมเห็นว่า การแก้พฤติกรรมดูจะล่ายกว่า การแก้พันธุกรรม เพราะจะต้องลงลึกไปถึงเซลล์ โครโมโซม DNA ของเซลล์ หลากหลายชนิดลงลึกไปถึงเซลล์สเปอร์มของฝ่ายชาย กับ เซลล์ไข่ของฝ่ายหญิงตลอดจนเซลล์ของสมองส่วนต่างๆ ที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของทุกอวัยวะในร่างกาย และที่สำคัญกว่านี้คือจะใช้วิธีกระตุ้นเซลล์เดิมของเราอย่างไรให้มันลดอายุลง ที่เรียกว่า "Cell therapy" หรือ "Bio-molecular therapy" ซึ่งประเทศเยอรมันนีเริ่มคิดมา 70 ปีมาแล้ว ประเทศรัสเซียและสหรัฐอเมริกากำลังทดลองค้นคว้าอยู่ในขณะนี้

ปัจจุบันนี้นักวิทยาศาสตร์ทางสมองกำลังศึกษาอย่างละเอียดลงลึกว่าเซลล์ในสมองส่วนไหนจะใช้วิธีพัฒนาอย่างไร จึงจะทำให้มีความสามารถพิเศษต่างๆ ได้ดีกว่าการปล่อยให้เซลล์เจริญไปตามยถากรรม แต่ความรู้ลึกๆ อย่างนี้ ยังเป็นความลี้ลับที่นักวิทยาศาสตร์ทางสมองยังไม่รู้อีกมาก ตัวอย่างเช่น ถ้าเราจะพัฒนาลูกของเราให้มีความโดดเด่นในด้านคุณธรรม จริยธรรม เรายังไม่รู้ว่าเราจะใช้วิธีอย่างไร? จะกระตุ้นสมองส่วนไหน? ข้างขวาหรือข้างซ้ายอย่างนี้เป็นต้น ดังนั้น ถ้าการศึกษาความเร้นลับของสมองปรากฏผลออกมาชัดแจ้งและรู้ให้แจ้งว่าอายุเท่าใดควรให้ฟังเสียงดนตรีประเภทไหน?หรืออายุเท่าใดจะพัฒนาให้เด็กเฉลียวฉลาดเก่งทางวิชาคำนวณและวิทยาศาสตร์ หรือมีทักษะต่างๆ เช่นทางคุณธรรมหรือทางความคิดให้สมกับวัย เราจะกระตุ้นสมองเด็กโดยวิธีอย่างไร?

ถ้าสิ่งที่เราฝันนี้เป็นความจริงแล้วไซร้ การปฏิรูปทางการศึกษาในการเรียนการสอนการฝึกอบรมก็จะต้องปรับเปลี่ยนเพื่อพัฒนาสมองของเยาวชนในชาติให้ถูกต้องตรงตามวัยต่างๆของเด็ก เพื่อให้ได้พลเมืองที่มีคุณภาพ

เรื่องเหล่านี้ผมเห็นว่า มีความสำคัญยิ่งที่จะต้องเร่งรัดศึกษาอย่างจริงจังทันที ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหาร CEO ผู้หนึ่งที่เขาสนใจเรื่องการพัฒนาบุตรของเขาตามความคิดแนวดังกล่าวข้างต้นนี้ เมื่อลุกเขาอายุประมาณ 1 ขวบ เขาเริ่มให้กล้วยบดแล้วใช้ผักสดสีเขียวเข้ม คือใบตำลึงสดบี้บดคลุกไปกับกล้วยบด เด็กจะชินกับรสเหม็นเขียวเด็กจะกินผักสดได้ง่ายเมื่อเติบโตขึ้น ผักสด ผลไม้สดเหล่านี้มีแร่ธาตุโดยเฉพาะอย่างยิ่งธาตุเหล็ก วิตามิน และเอนไซม์และให้พลังงานด้วย ที่สำคัญยิ่งคือ มีสารกระตุ้นเซลล์สมองให้เจริญอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

เมื่อลูกของเขาอายุได้ 4 ขวบ เขาให้ลูกเริ่มฟังเพลง Classic ของ Bach (เป็นเพลงชุด) ต่อมาให้เริ่มหัดเปียโนเมื่ออายุได้ 5-6 ขวบ ให้รู้จักเล่นเกม อาทิเช่น เกม muster mind และหรือหมากรุก หมากฮอส และหรือเกมส์ต่อตัวอักษร เหล่านี้เป็นการช่วยพัฒนาเซลล์มองแก่เด็ก เด็กจะเริ่มเครียดนิดๆ เพราะต้องใช้ความคิดเดินหมากให้ดีเป็นการพัฒนาสมอง (I.Q.) ของเด็ก ความเครียดนิดๆ เป็นการกระตุ้นเซลล์สมองของเด็กให้เฉลียวฉลาด

ปรากฏว่าเมื่อเติบโตขึ้นลุกของเขาเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีมาก สามารถสอบเข้าได้มหาวิทยาลัยแด่น 1 ใน 5 ในสหรัฐอเมริกาได้อย่างสบายๆ การเรียน ความประพฤติ ระบบของความนึกคิด สติปัญญาเป็นที่พอใจของครู อาจารย์ บิดา มารดา ญาติมิตร และผู้ได้สัมผัสบุตรคนนี้ของเขา พร้อมทั้งให้ข้อสังเกตเพื่อเปรียบเทียบอีกว่า บุตรของเขาคนรองๆ ลงมา เขาไม่มีเวลาที่จะพัฒนาสมองเหมือนบุตรคนแรก บุตรคนรองๆ ลงมาก็นับว่าดีใช้ได้ (คงเป็นเพราะ Gene คือ พันธุกรรม ของพ่อแม่ดีเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว) แต่ยังสู้บุตรคนแรกที่เขาได้ทดลองพัฒนาสมองตามความนึกคิดของเขาซึ่งบังเอิญไปตรงกับหนังสือที่เขาเพิ่งอ่านพบภายหลัง ตรงกันกับที่เขาทดลองกับบุตรคนแรกของเขา

หนังสือเล่มดังกล่าวชื่อ Brain-Based Learning เขียนโดย Eric Jensen ผมได้ออกนอกเรื่องไปพอสมควร ขอกลับเข้ามาในเรื่องของการมีความสุขอายุยืนยาวเกิน 120 ปี ก็คงใช้หลักการพัฒนาเซลล์ในอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เซลล์ของสมองซึ่งเป็นต้นตอเจ้าของความคิดนี้อย่างแน่นอนเหนือจากเซลล์สมองก็คือ "จิต" หลวงวิจิตรวาทการ ท่านกล่าวไว้ว่า"จิต เป็น โคตรของพลัง"สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ท่านไดhตรัสไว้ว่า"จิต เป็นสมบัติอันล้ำค่า เป็นแก้สารพัดนึก สารพัดรู้ ที่ทุกคนมีอยู่แล้ว แต่ยังไม่รู้จักเพราะยังมิได้เจียระไน"สมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้า ตรัสไว้ว่า"จิตเป็นใหญ่" "จิตเป็นประธาน" ความรู้สมัยใหม่ "จิต" ตรงกับ "Soft ware" ของเครื่องคอมพิวเตอร์ นั่นคือ การตั้งโปรแกรมจิตอย่างไรก็จะออกมาเป็นอย่างนั้นแน่นอน ทีนี้กลับมาดูเรื่องของ "กาย" บ้างก็พบว่า "กาย" หรือ "รูป" ประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ ที่มีเซลล์ของแต่ละชนิดประกอบกัน เซลล์เหล่านี้จากการศึกษาพบว่า ถ้าได้สารอาหารและได้รับการดูแลปฏิบัติให้ถูกต้องและต้องเคร่งครัดด้วยและสภาวะที่ไม่เคร่งเครียด จึงจะสามารถมีชีวิตยืนยาวได้ถึง 120 ปี เป็นอย่างน้อย

โดยจะต้องปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้ คือ (1) ต้องให้อาหารกายด้วยออกซิเจน ด้วยวิธีหายใจอย่างแรงลึกเข้าและออกอย่างน้อยวันละ 30 นาที 4-5 ครั้งต่อสัปดาห์ นั่นคือ Aerobic exercise เช่น เดิน, วิ่ง, ว่ายน้ำ, จักรยาน, โยคะ, หรือชิกง ไทเก็ก (มวยจีน) (2) ต้องให้อาหารกายด้วยอาหาร อาหารที่ให้ประโยชน์สูงสุดคือ อาหารธรรมชาติที่สุด เช่น ข้าวกล้อง ผักสด ผลไม้สด เพราะมีวิตามิน แร่ธาตุ และเอมไซม์มากกว่าเนื้อ นมไข่ อาหารประเภท มัน หวาน เค็มและเนื้อจากสัตว์ (4 เท้าและ 2 เท้า) ควรหลีกเลี่ยง เช่นเดียวกับอาหารประเภทหมัก ดอง ซึ่งเก็บได้นานแต่กลับจะให้โทษเป็นที่ทราบกันดีว่าออกซิเจนที่เราหายใจแรงลึกก็ดี แร่ธาตุสังกะสี เหล็ก ทองแดง ฯลฯ ที่ได้จากอาหารสดประเภทผักผลไม้สดๆ เป็นอาหารวิเศษยิ่งสำหรับเซลล์สมองโดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะวัยเด็กกำลังเจริญเติบโต การให้อาหารทางกาย 2 ประเภทนี้ จึงทำให้ร่างกายเกิดความสมดุล 2 อย่างคือ1. สมดุลที่น้ำหนักกับความสูง พอดีคือไม่อ้วน2. สมดุลที่ผลเลือดคงที่เป็นปกติ ไม่มีโรคทุกชนิด เพราะอาหารและใช้ชีวิตถูกต้อง (3) ต้องให้อาหารใจด้วยการกำหนดลมหายใจ เข้าออกช้าๆ คือ หลักสมาธิ หรือ วิปัสสนากรรมฐานตามหลักทางพุทธศาสนา (อานาปานสติ) ข้อนี้สำคัญยิ่งที่จะทำให้เกิดสติรู้เป็นการขจัดความเครียดหรือความทุกข์ เพราะทางวิชาแพทย์แผนปัจจุบันนั้น ทราบชัดเจนว่าโรคเกิดจากจิต 80% ดังนั้น ถ้าจิตสมดุลคือปกติแล้ว เป็นการป้องกันโรคได้ถึง 80%(4) ต้องสร้างและสะสมบุญ สะสมกุศลกรรม คิดดีทำดี ละความชั่วไปจนตลอดชีวิตนี้คือ "ไตรสิกขา" ข้อนี้ตะวันตกไม่ได้กล่าวถึง เพราะพุทธศาสนาเท่านั้นที่เชื่อในเรื่อง "กฎแห่งกรรม" คือ "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว"
ถ้าปฏิบัติตัวได้ตามแนวนี้จริงๆ แล้ว ความหวังตามบทความนี้ก็คงจะเป็นความจริงที่สามารถปฏิบัติได้ 


สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170