รายงานการวิจัย การทบทวนองค์ความรู้และแนวทางการจัดระบบสวัสดิการผู้สูงอายุในประเทศไทย
วันที่ : 543 1,558 ครั้ง

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นารีรัตน์ จิตรมนตรี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาิวิทยาลัยมหิดล และ ดร. สาวิตรี ทยานศิลป สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

สังคมไทยก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” ในระยะเวลาอันสั้น ครอบครัวเดี่ยวมีมากขึ้น สภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ลูกหลาน โดยเฉพาะผู้หญิงไม่สามารถรับบทบาทดูแลผู้สูงอายุได้เหมือนในอดีต ส่วนผู้สูงอายุเองเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ จึงมีภาวะพึ่งพิงประชากรในวัยทำงานมากขึ้น สภาพปัญหาดังกล่าวแสดงให้เห็นความต้องการการช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคมของผู้สูงอายุ

สวัสดิการสังคม (Social Welfare) เป็นระบบที่ให้บริการแก่ประชาชนเพื่อตอบสนองความต้องการที่จำเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา และสุขภาพอนามัย งานสวัสดิการสังคม        แบ่งประเภทบริการได้ 3 ประเภทคือ

1) การประกันสังคม (Social Insurance)

2) การช่วยเหลือสาธารณะ (Public Assistance) และ

3) การบริการสังคม (Social Services) ด้านต่างๆดังนี้ สุขภาพอนามัย การศึกษา ที่อยู่อาศัย การมีงานทำและการมีรายได้ การบริการสังคม และนันทนาการ (ศศิพัฒน์ ยอดเพชร, 2549)

การศึกษาครั้งนี้เป็นการทบทวนองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบสวัสดิการผู้สูงอายุทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความชัดเจนขององค์ความรู้ และศึกษาแนวทางการจัดระบบสวัสดิการผู้สูงอายุที่เหมาะสมกับประเทศไทย เพื่อนำเสนอทางเลือกและข้อเสนอแนะของระบบสวัสดิการผู้สูงอายุระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ การพัฒนาระบบสวัสดิการให้เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุไทย เป็นการเตรียมสังคมไทยเพื่อรองรับ “สังคมผู้สูงอายุ” ซึ่งย่อมนำไปสู่คุณภาพที่ดีขึ้นของผู้สูงอายุ ครอบครัว และสังคม

การศึกษาครั้งนี้ใช้กรอบแนวคิดในการรวบรวมความรู้ที่มีอยู่ 2 ประเภทคือ Explicit Knowledge (ความรู้ที่ชัดแจ้ง) เป็นความรู้เปิดเผยที่ถูกเก็บรวบรวมไว้ในหนังสือ เอกสาร และอินเตอร์เน็ต กับ Tacit Knowledge (ความรู้ที่ฝังลึก) ซึ่งเป็นความรู้ที่อยู่ในตัวบุคคล อันเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์การเรียนรู้ต่างๆ ของแต่ละบุคคล ดำเนินการโดย 1) การค้นคว้าจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวกับระบบสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ 2) การถอดบทเรียนด้วยการสัมภาษณ์ระดับลึกบุคคลผู้ที่ทำงานหรือมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับระบบสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ รวมทั้งผู้สูงอายุในฐานะที่เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์โดยตรง จากนั้น 3) นำความรู้ทั้งหมดที่รวบรวมได้เสนอในเวทีสาธารณะ เพื่อเผยแพร่และระดมสมองจากทุกฝ่ายที่สนใจและเกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่สมบูรณ์และข้อเสนอแนะที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง


สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170