ใครเป็นผู้ที่มีอายุสูงที่สุดในประเทศไทย
วันที่ : 543 1,833 ครั้ง

“ศตวรรษิกชน” คำนี้บัญญัติโดยศาสตราจารย์ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล อ่านว่า สัด-ตะ-วัด-สิก-กะ-ชน ซึ่งหมายถึง คนที่มีอายุหนึ่งร้อยปีขึ้นไป

ศตวรรษิกชน ถือว่าเป็นกลุ่มคนที่มีอายุยืนยาวเป็นพิเศษ และกำลังเป็นที่สนใจจากนักวิชาการ นักวิจัย สื่อสารมวลชน และคนทั่วไปเป็นอย่างมาก เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การมีอายุยืนยาวถึง 100 ปี เป็นเรื่องที่น่ายินดี และน่ายกย่องในเรื่อง

การดูแลตนเอง จนสามารถมีชีวิตอยู่ได้จนถึง 100 ปี ซึ่งอายุคาดเฉลี่ยของคนไทยเมื่อ 5 ทศวรรษก่อน เพิ่มขึ้นจาก 50 ปีเป็น 74 ปี ดังนั้นการที่คนไทยจะมีอายุยืนยาวถึง 100 ปี ก็ไม่ใช่เรื่องไกลเกินความจริง

ในประเทศไทย เราสามารถทราบจำนวนคนร้อยปีได้จากระบบทะเบียนราษฎร ของสำนักบริหารการทะเบียน กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญแหล่งหนึ่ง ที่บันทึกรายชื่อและวันเดือนปีเกิดของคนไทยทุกคนไว้ การศึกษาผู้สูงอายุวัยปลายหรือศตวรรษิกชน ประเด็นสำคัญอยู่ที่การมีหลักฐานยืนยันว่า บุคคลนั้นมีอายุถึงหนึ่งร้อยปีหรือไม่ และวันเดือนปีเกิดที่ปรากฎอยู่ในทะเบียนราษฎรนั้นถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่

จากรายงานในทะเบียนราษฎรคนร้อยปี พ.ศ.2553 มีจำนวน 14,493 คน จากประชากรทั้งหมด 63.8 ล้านคน คิดเป็น 0.02% แต่เมื่อย้อนกลับไปดูจำนวนคนร้อยปีจากทะเบียนราษฎรเมื่อ 16 ปีก่อน ในปี 2537 จะพบว่ามีจำนวนเกือบถึง 60,000 คน จากประชากรทั้งหมด 59 ล้านคน หลังจากที่กระทรวงมหาดไทยได้ปรับแก้ไขทะเบียนราษฎรให้ถูกต้องมากขึ้น โดยการลบชื่อผู้ที่เสียชีวิตและชื่อผู้ที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ออกจากระบบแล้ว ทำให้จำนวนคนร้อยปีในปัจจุบันลดลง แต่ก็ยังคงมีจำนวนมาก จนน่าเชื่อว่าข้อมูลนี้อาจไม่ตรงกับความเป็นจริง เนื่องจากการตรวจสอบข้อมูลคนร้อยปีในปี 2553 ยังพบชื่อในทะเบียนราษฎรที่มีอายุมากเกินกว่าที่จะเป็นไปได้ เช่น มากกว่า 120 ปี ฯลฯ อยู่อีกเป็นจำนวนมาก

ประเทศไทยมีการริเริ่มการจดทะเบียนเกิด ตาย และสำมะโนครัวขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.2452 เพื่อต้องการทราบจำนวนคนที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย ซึ่งพระราชบัญญัติการจดทะเบียนเกิดและตายมีผลบังคับใช้อย่างจริงจังในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.2459 หรือประมาณ 96 ปีก่อน

การจดทะเบียนเกิดในสมัยก่อนอาจยังไม่สมบูรณ์นัก ความผิดพลาดอาจเนื่องมาจากการแจ้งเกิดที่ไม่ได้แจ้งวันเดือนปีที่เกิดจริง เพราะแจ้งเมื่อเด็กเกิดนานแล้ว อาจจำวันเดือนปีเกิดคลาดเคลื่อน หรือการนับอายุผิดพลาดไปเป็นรอบ (12 ปี)   จากขั้นตอนการแปลงอายุที่บันทึกแบบวันขึ้นแรมตามปฏิทินจันทรคติหรือปีนักษัตร ไปเป็นปีปฏิทินสากล หรืออาจเกิดจากลายมือที่จดทะเบียนไม่ชัดเจน เมื่อมีการย้ายเข้า-ออก การคัดลอกข้อมูลต่อๆ มา ทำให้ข้อมูลวันเดือนปีเกิดคลาดเคลื่อนไปได้ รวมทั้งการปรับระบบทะเบียนราษฎรให้เป็นระบบคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา จึงอาจกล่าวได้ว่า รายชื่อคนร้อยปีจากทะเบียนราษฎรน่าจะยังคลาดเคลื่อนและไม่ตรงกับความเป็นจริง นอกจากนี้ ยังมีบุคคลอีกจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่ไม่มีการแจ้งตายหรือแจ้งตายไม่ครบขั้นตอน รายชื่อของผู้ตายจึงยังปรากฎอยู่ในทะเบียน กลายเป็นศตวรรษิกชนไป จากความไม่สมบูรณ์ของระบบทะเบียนราษฎรดังกล่าว เมื่อทำการคาดประมาณจำนวนคนร้อยปีในปัจจุบัน พบว่าน่าจะมีอยู่ไม่ถึง 2,000 คน1ทำให้เกิดคำถามว่าใครเป็นผู้ที่มีอายุสูงที่สุดในประเทศไทย

คนร้อยปีมีภาษาอังกฤษว่า centenarian การศึกษาเรื่องคนร้อยปีในต่างประเทศมีมานานแล้ว ข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับคนร้อยปีนั้น มีทั้งบทความและงานวิจัย ทั้งในประเทศแถบเอเชีย ยุโรป และอเมริกา บุคคลที่มีหลักฐานยืนยันได้ว่ามีอายุยืนที่สุดในโลกขณะนี้ยังมีชีวิตอยู่คือ “มิสไดน่า แมนเฟสดินี” ชาวอิตาเลียน-อเมริกัน อายุ 115 ปี คุณทวดไดน่า ได้กลายเป็นผู้ที่มีอายุสูงที่สุดในโลกจากการบันทึกของกินนเนสบุ๊ค เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา หลังจากที่คุณทวดเบสซี่ ผู้ที่เคยมีอายุยืนที่สุดมาก่อนได้เสียชีวิตลงอย่างสงบ โดยมีอายุสูงถึง 116 ปี คุณทวดไดน่าเป็นชาวอิตาเลียนคนแรกที่มีอายุยืนที่สุดในโลก และปัจจุบันอาศัยอยู่ในสถานดูแลผู้สูงอายุที่รัฐไอโอวา สหรัฐอเมริกา ซึ่งครอบครัวของคุณทวดได้บอกเคล็ดลับในการมีอายุยืนว่า “คุณทวดทำงานหนักมาตลอดชีวิต และทำทุกสิ่งทุกอย่างโดยพอประมาณ”

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ประชากรมีอายุยืนมากประเทศหนึ่ง และเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญต่อผู้อาวุโสเป็นอย่างมาก รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดวันผู้สูงอายุและให้เป็นวันหยุดราชการในวันที่ 15 กันยายนของทุกปีมาตั้งแต่ปี 2490 ต่อมาเปลี่ยนเป็นทุกวันจันทร์ที่สามของเดือนกันยายน โดยให้ชื่อว่า “วันจันทร์สุขสันต์” ซึ่งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นแต่ละแห่งจะส่งตัวแทนเข้าเยี่ยมคารวะผู้ที่มีอายุครบ 100 ปี ในท้องถิ่นของตนพร้อมมอบเกียรติบัตรและของขวัญให้ด้วย3

คนร้อยปีของญี่ปุ่น จากสำนักข่าว BBC NEWS ASIA PACIFIC4 ในวันที่ 10 สิงหาคม 2553 พาดหัวข้อข่าวว่า

“คนร้อยปีในญี่ปุ่นสูญหายกว่า 230,000 คน” เนื้อข่าวมีว่า เจ้าหน้าที่ทะเบียนราษฎรของญี่ปุ่นได้พยายามติดตามคนร้อยปีจากรายชื่อในทะเบียน จึงพบว่ามีศตวรรษิกชนสูญหายหรือไม่พบตัวตนถึง 2 แสนกว่าคน มีจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิตไปแล้ว และพบผู้มีอายุมากกว่า 150 ปีเป็นจำนวนมาก

สำนักบริหารการทะเบียนของญี่ปุ่นได้ทำการตรวจสอบข้อมูลผู้ที่มีอายุเกิน 100 ปีอย่างจริงจัง ทั้งนี้สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่รัฐบาลติดตามผู้สูงอายุชายที่มีอายุยืนที่สุดตามหลักฐานการทะเบียน เพื่อแสดงความยินดีว่าเป็นชายที่มีอายุยืนที่สุดในญี่ปุ่น แต่เมื่อไปถึงที่พักของชายผู้นี้กลับพบว่า เขาเสียชีวิตไปนานแล้ว มีร่างที่เป็นมัมมี่นอนอยู่ในที่พัก    ญาติของเขาได้พยายามปิดบังความจริงมาโดยตลอด และยังนำเงินบำนาญของเขาสำหรับใช้ในบั้นปลายชีวิตประมาณ   3.3 ล้านบาทไปใช้จ่ายแล้วด้วย

กรณีศึกษาของญี่ปุ่น เกิดจากการไม่แจ้งตายของญาติผู้ตาย เพราะมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก กรณีศึกษาดังกล่าวเป็นบทเรียนที่สำคัญ หากประเทศไทยต้องการมีระบบทะเบียนราษฎรที่ถูกต้องสมบูรณ์แล้ว สำนักบริหารการทะเบียนจะต้องมีแนวทางที่ชัดเจนในการปรับปรุงข้อมูลทะเบียนราษฎรให้ถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องวันเดือนปีเกิดหรืออายุ และการลบชื่อผู้เสียชีวิตออกจากทะเบียน ยังมีสิ่งที่ชาวไทยทุกคนให้ความร่วมมือได้คือ เมื่อมีคนในครอบครัวเสียชีวิตจะต้องแจ้งตายให้ครบทุกขั้นตอน

การที่สังคมไทยกลายเป็นสังคมสูงอายุ รัฐบาลต้องมีแผนและนโยบายต่างๆ เพื่อรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น รวมถึงมีมาตรการต่างๆ เพื่อรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ ปัจจุบันเริ่มมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตระหนักและเห็นคุณค่า

ผู้สูงอายุมากขึ้น ดังเช่นเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพร้อมมอบประกาศเกียรติคุณพลเมืองอาวุโสกรุงเทพมหานคร ให้แก่ศตวรรษิกชนที่มีภูมิลำเนาใน กทม. จำนวน 114 คน เพื่อยกย่องและเชิดชูเกียรติให้เป็นแบบอย่างในการดูแลตนเองจนมีอายุเกิน 100 ปี

ผู้สูงอายุกลุ่มนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น บัตรโดยสารพลเมืองกรุงเทพมหานคร เพื่อใช้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถประจำทางด่วนพิเศษบีอาร์ทีฟรีตลอดชีพ และสิทธิรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลสังกัด กทม. และศูนย์บริการสาธารณสุข รวมถึงห้องพักฟื้นพิเศษฟรี นอกจากนี้ ยังมีโครงการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว โดยดำเนินการสร้างศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุบางขุนเทียน เพื่อรองรับผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคตอีกด้วย

การมีอายุยืนยาวถึง 100 ปี เป็นเรื่องที่น่ายกย่องและภาคภูมิใจ แต่สิ่งสำคัญที่ควรตระหนักคือ การมีชีวิตยืนยาวพร้อมมีสุขภาพที่ดี ถ้ามีลูกหลานดูแลด้วยจะยิ่งดี นอกจากให้เบี้ยยังชีพเดือนละ 1,000 บาทแก่ศตวรรษิกชนแล้ว รัฐบาลควรจัดสวัสดิการต่างๆ ทั้งการรักษาพยาบาล สันทนาการ  และกิจกรรมอื่นๆ ให้ด้วย ในขณะที่คนทุกคนก็ควรเตรียมตัวในการดูแลตนเองเมื่อมีอายุยืนไว้ด้วย


Chuanwan, S., Prasartkul, P., Chamratrithirong, A., Vapattanawong, P., and Hirschman, C. “Incompleteness of registration data on centenarians in  Thailand”,  Journal of Population and Social Studies, 2012: Vol.20 (2): pp. 38-54.

2 Guinnessworldrecords. 2012. Happy Birthday Besse Cooper! World’s Oldest Living Person Turns 116. 
[http://www.guinnessworldrecords.com/news/2012/8/happy-birthday-besse-cooper-worlds-oldest-living-person-turns-116-44470] สืบค้นเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2555

หนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 ก.ย. - 4 ต.ค. 2555. 
[http://www.taladhoon.com/taladhoon/board/index.php?topic=11076.0;wap2] สืบค้นเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน    2555

4 BBC New Asia Pacific. 2010. More than 230,000 Japanese centenarians ‘missing’. [http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-pacific-11258071] สืบค้นเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2555


สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170