ศตวรรษาวัฒนายุกาล พระเถระผู้เจริญในสมณคุณ
วันที่ : 18 มีนาคม 2564 1,569 ครั้ง

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 เป็นอีกวันที่พุทธศาสนิกชนได้รับฟังข่าวดีที่เกิดขึ้นกับพุทธศาสนาอีกวาระหนึ่ง โดยที่ราชกิจจานุเบกษาได้มีการเผยแพร่ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ ตามที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ประกาศเกียรติคุณพร้อมทั้งยกย่องคุณูปการและสมณกิจต่างๆที่ พระพรหมมงคลญาณ (สมณศักดิ์เดิม) ได้กระทำจนปัจจุบันที่มีอายุถึง 100 ปี    จึงได้สถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามที่จารึกในสุพรรณบัฏว่า

“สมเด็จพระญาณวชิโรดม พุทธาคมวิศิษฐ์ จิตตานุภาพพัฒนดิลก สาธกธรรมวิจิตร วิเทศศาสนกิจไพศาล วิปัสสนาญาณธุราทร ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี” สถิต ณ วัดธรรมมงคลเถาบุญนนทวิหาร กรุงเทพมหานคร

          สมเด็จพระญาณวชิโรดมฯ หรือที่ประชาชนทั่วไปขนานนามว่า หลวงพ่อหรือพระอาจารย์วิริยังค์ สิรินธโร (วิริยังค์ บุณฑีย์กุล) เกิดเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2463 ปัจจุบันมีอายุครบ 100 ปีบริบูรณ์เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 เป็นบุตรคนที่ 5 จากพี่น้องทั้งหมด 7 คน ของท่านขุนเพ็ญภาษชนารมณ์ และนางมั่น บุณฑีย์กุล จุดเริ่มต้นของศรัทธาในพุทธศาสนาได้เกิดขึ้นโดยการเริ่มต้นบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 16 ปี ณ วัดสุทธจินดา จังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความสนใจในการเรียนรู้ธรรม พร้อมทั้งการฝึกปฏิบัติกรรมฐานโดย พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ และเมื่ออายุครบถึงการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ พระอาจารย์กงมา ได้จัดเตรียมการบวชอย่างเรียบง่ายขึ้นที่อุทกสีมากลางทะเล จังหวัดจันทบุรี

          ความปรารถนาในพรรษาแรกแห่งสมณเพศ สมเด็จพระญาณวชิโรดมฯ ได้มุ่งมั่นตั้งใจที่จะพบและได้ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติ และแนวทางการทำสมาธิกับพระอาจารย์มั่น ภูริทตโต พระเถระผู้เป็นที่เคารพนับถือและเป็นพระอาจารย์ใหญ่ในกลุ่มพระกรรมฐานที่มีข้อวัตรและแนวทางในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่โดดเด่น ความตั้งใจของท่านได้สำเร็จเมื่อท่านได้โอกาสในการศึกษาพระธรรมวินัย ข้อวัตรและการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน อีกทั้งได้เป็นพระอุปัฏฐากได้อยู่ดูแลพร้อมทั้งได้ออกธุดงค์ร่วมไปกับท่านพระอาจารย์มั่นเป็นเวลากว่า 4 ปีอีกด้วย

          กรุณาธิคุณเกื้อกูลต่อพหูชน สมเด็จพระญาณวชิโรดมฯ เป็นบุคคลสำคัญในการเริ่มต้นหลักสูตรครูสมาธิ ซึ่งท่านได้รวบรวมและประมวลวิธีการพร้อมทั้งคำสั่งสอนจากการที่ได้ศึกษาจนสามารถแต่งเป็นตำราสมาธิขึ้นทั้งหมด 3 เล่ม ซึ่งเป็นทั้งหลักการเบื้องต้น ทฤษฎีในการปฏิบัติตั้งแต่สมาธิขั้นพื้นฐาน ขั้นกลาง ไปจนถึงสมาธิขั้นสูง ซึ่งมีความแพร่หลายไปทั่วประเทศไทย พร้อมทั้งมีการจัดตั้งสถาบันพลังจิตตานุภาพ เพื่อเป็นแหล่งอบรมหลักสูตรครูสมาธิ ที่มีสาขากระจายไปกว่า 100 สาขาทั่วประเทศ และในต่างประเทศเช่น ประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกา

          สมบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตร สมเด็จพระญาณวชิโรดมฯ ได้รับการถวายปริญญาดุษฎีบัณทิตกิตติมศักดิ์ในหลากหลายสาขา อาทิ พัฒนบริหารศาสตร์ ครุศาสตร์ ศาสนศาสตร์ ปรัชญา และสาขาพุทธศาสตร์ เป็นต้น รวมถึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ขั้นพระราชาคณะตั้งแต่ พ.ศ.2510 เรื่อยมาตามลำดับจนถึงสมณศักดิ์ปัจจุบันที่ได้ยกย่องให้ดำรงสมณฐานันดรที่สมเด็จพระราชาคณะ รวมถึงเคยได้รับการถวายรางวัลที่สำคัญ คือ รางวัลและเหรียญเชิดชูเกียรติ The World Fellowship of Buddhists Medal for Culture โดยประชุมใหญ่ขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ในปี 2553 และได้รับการถวายเครื่องอิสริยาภรณ์ Order of the Star of ltalian Solidarity ชั้น Knight เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติแห่งผลงาน ที่ได้สร้างเสริมความร่วมมือด้วยวิชาการและวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทย

          ในโอกาสเจริญวัฒมงคล 100 ปีของหลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร (สมเด็จพระญาณวชิโรดมฯ สมณศักดิ์ปัจจุบัน) ได้มีการจัดกิจกรรม Mind power bank หรือคลังพลังจิต โดยการร่วมกันทำสมาธิที่บ้านของตนเองและสะสมระยะเวลาร่วมกัน 100 ล้านนาที เพื่อเป็นการอธิษฐานจิตร่วมกัน ซึ่งเป็นการสะสมพลังจิตแบบไฮเทค ในยุคที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว

          เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าการทำสมาธิ การมีสติ และตั้งตนอยู่บนความไม่ประมาทนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการมีอายุที่ยืนยาวทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี ดังเห็นได้จากตัวอย่างที่ปรากฏขึ้นให้พุทธศาสนิกชน หรือศาสนิกชนในศาสนาอื่น ๆ ได้ศึกษาและนำไปปฏิบัติต่อตนเอง ดังที่หลวง สมเด็จพระญาณวชิโรดมฯ (วิริยังค์ สิรินธโร) ได้แสดงสัจจะธรรมให้เห็นครบ 100 ปี ศตวรรษาวัฒนายุกาล และเป็น ศตวรรษิกชนไทย อีกท่านหนึ่งที่ควรถวายความเคารพสืบไป

          ปกิณกะสาระ : การสำรวจสภาวะสังคมและวัฒนธรรม ได้สำรวจการนับถือศาสนาต่าง ๆ ของประชากรไทย ในปี 2561 พบว่าประชากรของประเทศที่เป็นพุทธศาสนิกชนมากที่สุดถึงร้อยละ 93.5 รองลงมานับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 5.4 และศาสนาคริสต์ ร้อยละ 1.1 (สํานักงานสถิติแห่งชาติ, 2561) จึงนับได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่เป็นดินแดนที่พุทธศาสนามีความวัฒนาถาวร ทั้งในด้านถาวรวัตถุที่เห็นได้จากการมีวัดวาอารามที่มีพระสงฆ์ทั่วประเทศประมาณ 42,610 วัด (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) รวมถึงมีพระสงฆ์ที่เป็นผู้นำทางความคิด และเป็นศูนย์รวมศรัทธาและความเคารพให้เห็นกันได้มากในปัจจุบัน

สมเด็จพระญาณวชิโรดม (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร) เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล มรณภาพเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2563 สิริอายุ 100 ปี 11 เดือน 15 วัน 80 พรรษา

ปล.บทความนี้เรียบเรียงก่อนที่ท่านจะได้มรณะภาพ

ขอบขอบคุณภาพจาก Facebook : มุตโตทัย หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร มูลนิธิประทีปเด็กไทย


แหล่งข้อมูล

ประวัติเจ้าอาวาส http://www.dhammamongkol.com/ประวัติเจ้าอาวาส

ราชกิจจานุเบกษา พระบรมราชโองการ โปรดสถาปนาสมณศักดิ์ พระพรหมมงคลญาณ ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชาคณะ http://www.samathi.com/2016/news-detail.php?actid=199

Download File : null

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170